“ความร่วมมือเท่านั้นที่จะเปลี่ยน “ความเป็นไปไม่ได้” ให้ “เป็นไปได้” ถอด 3 แนวทางปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน จาก สราวุฒิ อยู่วิทยา

26 สิงหาคม 2565

งานเสวนา “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน” (Collaborative Partnership for Sustainability) ถือเป็นการจัดงานเสวนาเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และหารือถึงแนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนระหว่างพันธมิตรธุรกิจทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นเหมือนการตอกย้ำเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านธุรกิจพร้อมสร้างผลกระทบในทางบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งไทยและต่างประเทศ

ในงานนี้ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ขึ้นเวทีกล่าวถึงหัวข้อ “ก้าวข้ามความท้าทาย สู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ยั่งยืน” ว่า ปี 2565 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกลุ่มธุรกิจ TCP ในการพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในแบบ 360 องศา นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การก้าวสู่ปีที่ 66 ของการดำเนินธุรกิจ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงเราในหลายสิ่งและทำให้เราเรียนรู้ในหลายอย่าง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนต้องปรับตัวหมด กลุ่มธุรกิจ TCP ก็เช่นกัน นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19  เราได้ทบทวนและปรับเปลี่ยน วิธีคิด วิธีทำงาน และเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อนาคตผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่คำนึงถึงมิติสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน” นายสราวุธกล่าว

นายสราวุฒิย้ำว่า การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะความร่วมมือคือกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยน ‘ความเป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เป็นไปได้’ แต่คำถามคือจะสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนกันอย่างไร จึงจะสร้างโอกาสการเติบโตต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งนายสราวุฒิได้แบ่งปัน 3 แนวทางสู่ความยั่งยืน ดังนี้

1. ร่วมมือ ร่วมมือ ร่วมมือ ที่ย้ำ 3 ครั้งเพื่อบอกว่ามันสำคัญมาก เพราะวันนี้องค์ความรู้ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ไม่สามารถคิดเองคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วย และจะต้องเกิดจากความร่วมมือหลายระดับตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน ไปจนถึงผู้บริโภค

  • ระดับภาครัฐ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดการปล่อยคาร์บอนได้ด้วยการลงทุนและพัฒนาวิจัยพลังงานสะอาด การเปลี่ยนกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงการเอื้อให้ผลิตภัณฑ์สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ หรือสามารถเอื้อให้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
  • ระดับภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันคิดทำสิ่งใหม่ วิธีการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนจะช่วยเหลือพึ่งพากันไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน
  • ระดับผู้บริโภค ต้องเริ่มต้นจากมุมมองที่ว่าจะปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตอย่างไร วันนี้มีงานวิจัยที่สำรวจผู้บริโภคจำนวน 100 คน มีเพียง 26% เท่านั้นที่เลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน[1] จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเองอาจต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนสินค้าสีเขียวก่อน การเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้น

2. การแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ เรื่องอื่นๆ เป็นความลับในองค์กรได้ แต่เรื่องความยั่งยืน ไม่ควรเป็นความลับ ใครทำอะไรได้ดี ต้องมาแชร์กัน ต้องมาสอนกัน เพราะทุกวันนี้ ทุกคนกำลังแข่งกับเวลาที่อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เราต้องช่วยกันแก้ปัญหา ยิ่งทำร้ายโลกมากเท่าไร อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาก็จะยิ่งใกล้เข้ามาทุกที

3. การปรับตัวและกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง คำว่าเป็นไปได้จริงนั้นมี 2 มิติ คือ มิติด้านเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง และมิติที่ว่าเป้าหมายที่ตั้งนั้นคุ้มค่าที่จะทำ เช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์ เราอาจบอกว่าอยากได้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้อย่างแท้จริง แต่ถ้าราคาขายให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไปสองเท่าตัว มันอาจไม่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางและสร้างแผนงานในธุรกิจที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP อย่างมีส่วนร่วมที่จะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้น

“ด้วยแนวคิดที่กล่าวมานี้ กลุ่มธุรกิจ TCP จะร่วมมือกับทุกคน ทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ วันนี้เราพูดเป้าหมายของเราแล้ว เราจะชวนพันธมิตรของเรากำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสุดท้ายเราจะเดินไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้วยกัน” นายสราวุฒิกล่าวปิดท้าย

 

[1] ข้อมูลจาก Gill Hyslop. (2022). Brands cannot afford to ignore consumers’ sustainable packaging demands, สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565.