กลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้าโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำสู่ลุ่มน้ำยม เริ่ม จ.แพร่

15 พฤศจิกายน 2562
การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) มุ่งสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชนตลอดทั้งลุ่มน้ำ
  • ชุมชน และจิตอาสา ร่วมปรับปรุงพื้นที่ให้แก่ชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่ เชื่อมแหล่งน้ำสู่พื้นที่เกษตรให้ได้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง

จังหวัดแพร่ (15 พฤศจิกายน 2562) – วันนี้กลุ่มธุรกิจ TCP โดย “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” โครงการที่มี เป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน เสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน เริ่มเดินหน้าโครงการแรกสำหรับการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม พร้อมจับมือ อพ. และ สสน. ร่วมด้วยเครือข่ายชุมชนบ้านแม่ขมิง จ. แพร่ และจิตอาสาภายในกลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่ และร่วมกันทำกิจกรรมปรับปรุงระบบส่งน้ำ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ที่ใช้ผันน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเรียกว่า “แตต้าง” รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการเรียนรู้ในเรื่องเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นองค์กรของคนไทยที่เป็นเจ้าของเครื่องดื่มแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเรานั้นใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้น เราจึงกำหนดนโยบายทั้งภายในและภายนอกในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

“เรามุ่งสร้างกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมปลูกจิตสำนึกให้พนักงานเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสุงสุด ในขณะเดียวกัน เรายังมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายนอกที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนเกิดเป็น โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย  ที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลาย อาทิ อพ. สสน. และสถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีนบุรี ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ” นายสราวุฒิ กล่าวเสริม

ทั้งนี้ บทบาทของ สสน. จะทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดยการผสมสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ว ท) เข้ากับหลักสังคมศาสตร์ รวมทั้งถ่ายทอดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งจากภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรมแผนที่ และเครื่องจับพิกัดจุด เพื่อนำมาจัดทำแผนที่น้ำของชุมชน รู้ระดับสูงต่ำของพื้นที่ แสดงเส้นทางท่อส่งน้ำตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงพื้นที่เกษตรของสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมทั้ง วิเคราะห์สมดุลน้ำหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝน น้ำที่เก็บในอ่าง และความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ครบวงจรในแต่ละปี

“จิตอาสาที่มาร่วมงานในวันนี้ ไม่เพียงจะได้เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านในการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง แต่ยังได้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำ ทราบถึงการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัว จนถึงการผันน้ำสู่ชุมชนแล้ว เขายังได้เห็นว่าปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนในวันนี้จะดีขึ้นได้ก็เพราะคนในชุมชนหันมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง” นายสราวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย “ในอนาคต ปัญหาการจัดการน้ำจะดีขึ้นได้ก็ต้องมาจากพวกเราทุกคนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะปัญหาของลุ่มน้ำก็คือปัญหาของพวกเราทุกคน”

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 - 2566) ของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร จะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท

ข่าวอื่นๆ