ส่งความสุขให้ผู้มีอุปการคุณพร้อมอุดหนุนงานฝีมือชุมชนทั่วไทย กับชุดของขวัญปีใหม่ 2565 จากกลุ่มธุรกิจ TCP

19 พฤศจิกายน 2564

ปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เป็นอีกหนึ่งปีที่เหตุการณ์มากมายได้เกิดขึ้นและสอนให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยง พึ่งพาอาศัยกันอย่างขาดไม่ได้ของมนุษย์ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคล ชุมชน และธุรกิจน้อยใหญ่ต่างๆ อย่างหนักหน่วง และหนึ่งในกลุ่มคนที่ขาดรายได้เพราะโควิด-19 ก็คือ ผู้ผลิตงานฝีมือการระดับชุมชนที่สูญเสียโอกาสในการขายสินค้า

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบสองปี กลุ่มธุรกิจ TCP มีบทบาทมากมายในการช่วยเหลือสังคม ทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อมาถึงช่วงปลายปีที่เราเริ่มมองหาของขวัญปีใหม่สำหรับผู้มีอุปการคุณต่อองค์กรและของขวัญให้เพื่อนพนักงาน ซึ่งมีจำนวนสั่งซื้อรวมกันกว่า 2,600 ชิ้น จะมีสิ่งใดดีไปกว่าการอุดหนุนสินค้างานฝีมือจากชุมชน เพื่อช่วยกระจายรายได้ในประเทศ สร้างความสุขทั้งผู้ผลิต ผู้สั่งซื้อ และผู้รับ

ทีมจัดซื้อของกลุ่มธุรกิจ TCP ทำงานหนักในการเสาะหาสินค้าฝีมือดี น่าใช้ สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นจากทั่วประเทศไทย เพื่อมาประกอบเป็นชุดของขวัญมากประโยชน์และเหมาะกับการใช้ชีวิตในวันนี้

ชุดของขวัญสำหรับผู้มีอุปการคุณขององค์กร ประกอบด้วย

ชุดแก้วและจานรองศิลาดล “มีสุข” จากจังหวัดเชียงใหม่ คำว่า “Celadon” เป็นชื่อที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ส่วนชื่อเรียกของไทยเรานั้นเรียกว่าเครื่องสังคโลก ปัจจุบัน มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา ผลิตภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ "GI" ศิลาดลเชียงใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ ประเภทสโตนแวร์ (Stoneware) ที่ได้เคลือบขี้เถ้าพืชผสมกับดินผิวหน้านา เมื่อเผาแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะออกเป็นสีเขียว แบบเซลาดอน มีความสวยงาม คลาสสิคในตัวเอง

ผ้าขนหนูทอมือ สนับสนุน 3 ชุมชนคือ ชุมชนบ้านดอนแคน จังหวัดร้อยเอ็ด ชุมชนบ้านนาข่า และชุมชนบ้านเมืองเพลีย จังหวัดอุดรธานี ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มสตรีที่มีความรู้ด้านการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่อยากรักษาวัฒนธรรมและสิ่งที่ติดตัวให้คงอยู่ต่อไป โดยเส้นฝ้ายทุกเส้นจะผ่านกระบวนการเข็น (การนำฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้นๆ)  ก่อนนำมาย้อมด้วยสีจากเปลือกไม้ และวัสดุธรรมชาติ กับกระบวนการย้อมสีธรรมชาติที่ไม่ทิ้งรอยเคมีไว้เป็นอันตรายต่อผิว ซึมซับน้ำได้ดี

กล่องกระจูดสารพัดประโยชน์ จากหมู่บ้านโคกพะยอม ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  ในอดีตหมู่บ้านโคกพะยอมห่างไกลจากตัวเมือง ภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนหาซื้อได้ยาก แต่มีต้นกระจูดจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำมาสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนเพื่อใส่สิ่งของต่างๆ เช่นกระบุ้ง เพื่อใส่หอมแดง กระเทียม พริก หรือไว้เก็บอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ หรือใช่ในการเกษตร ต่อมามีการพัฒนาลวดลายและสีสันให้หลากลาย ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น จนกลายเป็นทุนปัญญาท้องถิ่นที่เลี้ยงดูครอบครัวสมาชิกกลุ่มกระจูดกว่า 100 คน  โดยผ่านกลุ่มตัวแทน ชุมชนวานีตา จังหวัดปัตตานี

ชุดของขวัญสำหรับเพื่อนพนักงาน

ในทุกปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ได้คัดสรรสินค้าเพียงหนึ่งเดียวเพื่อมอบให้เพื่อนพนักงานกว่า 5,000 ชีวิตทั่วไทย แต่ในปีนี้ เพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึงหลายๆ วิสาหกิจชุมชน เราจึงมีทางเลือกให้มากกว่าหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้เพื่อนพนักงานได้เลือกของชิ้นที่อยากได้เอง รวมทั้งมีออปชั่นเปิดกว้าง ให้บริษัทเลือกให้เช่นกัน

เลือกระหว่าง ผ้าขนหนูทอมือ สนับสนุน 3 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านดอนแคน จังหวัดร้อยเอ็ด  และชุมชนบ้านนาข่า และชุมชนบ้านเมืองเพลีย จังหวัดอุดรธานี ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มสตรีที่มีความรู้ด้านการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่อยากรักษาวัฒนธรรมและสิ่งที่ติดตัวให้คงอยู่ต่อไป โดยเส้นฝ้ายทุกเส้นจะผ่านกระบวนการเข็น (การนำฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้นๆ)  ก่อนนำมาย้อมด้วยสีจากเปลือกไม้ และวัสดุธรรมชาติ กับกระบวนการย้อมสีธรรมชาติที่ไม่ทิ้งรอยเคมีไว้เป็นอันตรายต่อผิว ซึมซับน้ำได้ดี

กับกางเกงเลในสีสันแบบ TCP สนับสนุน วิสาหกิจชุมชน ซาโลมา ปาเต๊ะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ผ้าปาเต๊ะแตกต่างจากบาติก เป็นการพิมพ์ลายด้วยบล็อกลายที่ทำจากทองแดง หรือแผ่นโลหะที่ดัดเชื่อมด้วยมือจนเกิดลวดลายแล้วนำมาปั๊มลายด้วยเทียนลงในผืนผ้า เอกลักษณ์ที่ชัดเจนของผ้าปาเต๊ะคือลวดลายที่แตกในเทียน คล้ายดินที่แตกตอนฤดูแล้ง

กล่องกระดาษทั้งหมดทำจากกระดาษสา “วดี” จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีจุดเริ่มต้นจากการแปรรูปต้นกล้วยในพื้นที่มาสู่การจัดตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษสาทำมือที่หล่อเลี้ยงคนกว่า 10 ครอบครัว ในตำบลหนองรี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

และทั้งหมดนี้ คือความพยายามของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่จะสร้างความยั่งยืนในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ตามเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” อย่างแท้จริง สวัสดีปีใหม่ 2565

ข่าวอื่นๆ