ทุกคนก็ดูแลทรัพยากรน้ำได้ กับ 7 เคล็ดวิชา จาก “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวน ก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited”

Harmony
26 พฤศจิกายน 2563
TCP Spirit

“ชาวบ้านอยู่กับป่าอยู่กับธรรมชาติ แต่กว่าเขาจะได้ใช้น้ำลำบากกว่าเราเยอะเลย คนเมืองอย่างเราเปิดก๊อกแบมือทุกอย่างก็จบแล้ว” หนึ่งในอาสาสมัครค่ายนี้บอกกับเรา

ท่ามกลางความสะดวกสบายเพียงแค่เปิดก๊อก หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าปีนี้ประเทศไทยประสบวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปีด้วย ปริมาณน้ำฝนที่ทิ้งช่วงนานและน้อยลงกว่าเคยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ซ้ำเติมให้วิกฤตโควิดหนักหน่วงกว่าเดิม

แล้วเราช่วยแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?


กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จึงชวนอาสาสมัครทั่วประเทศกว่า 60 คน ไปร่วมรับรู้ปัญหา ช่วยเหลือชุมชน พร้อมกับเรียนรู้การจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของคนต้นน้ำ ในกิจกรรม‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited’ จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 13-15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย”อันเป็นโครงการระยะยาว 5 ปีที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

“อาสาสมัครจะได้เห็นตั้งแต่ภูเขาต้นน้ำ การฟื้นตัวของป่า ลงมาถึงลำห้วย น้ำในลำห้วยก็ไหลลงไปที่กว๊านพะเยา พวกเราจะได้เห็นภาพลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำ เห็นภาพเขาที่ฟื้นขึ้นมา วันนี้ดอยหลวงหายป่วยแล้ว แต่เราจะมาร่วมพยาบาล พยาบาลในที่นี้คือช่วยให้ดอยหลวงลุกขึ้นวิ่งได้ เราจะได้เรียนรู้ด้วยว่าคนต่างจังหวัดเขาดูแลน้ำให้พวกเรากันยังไง” ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวต้อนรับและเกริ่นนำสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ตลอดค่ายนี้

“ผมอยากให้อาสาสมัครมาเห็นภาพแบบนี้ การทำงานที่เข้มแข็งของชุมชน แม้ว่าเขาอยู่ในแหล่งต้นน้ำแท้ๆ เขายังประหยัดน้ำ เขายังอุตส่าห์คิดว่าเขาจะแบ่งการใช้น้ำยังไง อยากให้อาสาสมัคร ได้มาเห็นของจริง” คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และไฮ่! กล่าวถึงเป้าหมายของกิจกรรมและมุ่งหวังชวนคนปลายน้ำมาดูแลน้ำที่เราได้ใช้ดื่มกิน

ที่พิเศษกว่านั้น ค่ายนี้เรายังได้เรียนรู้ร่วมกับรุ่นพี่อย่างอเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador ที่เพิ่งได้เป็นทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย(National Goodwill Ambassador for Thailand) ที่ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับพวกเราตลอดกิจกรรม หลังจากการปฐมนิเทศพี่อเล็กซ์ก็ชวนเราโดดขึ้นรถอีแต๋นมุ่งหน้าไปยังห้องเรียนแรก “ดอยหลวง”

วิชาที่ 1 รักษาดอยหลวง คืนผืนป่าแหล่งต้นน้ำบ้านตุ่น

ดอยหลวงพะเยา ต้นน้ำสำคัญของบ้านตุ่น ซึ่งสมัยก่อนเคยถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ค้าไม้ ทำให้บ้านตุ่นประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำป่าไหลหลาก

“แต่ก่อนตอนน้ำมา มันมาเร็วมากแล้วก็หายไป พอช่วงหน้าแล้งนี่ไม่มีน้ำกินเลย ต้องไปขุดน้ำซับกลางลำห้วยมากินมาใช้กัน บ่อน้ำตื้นก็แห้งหมดเลย” พ่อหลวงถาวร ใจบาล อดีตผู้ใหญ่บ้านเล่าถึงความแห้งแล้งในอดีต ปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านทุกคนลุกขึ้นสู้

ผู้นำชุมชนจึงชักชวนกันมาแก้ปัญหาโดยการขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำบ้านตุ่น ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูผืนป่า ชาวบ้านใช้เวลาถึง 25 ปีถึงจะมีน้ำกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม เรายืนอยู่ริมอ่างเก็บน้ำบ้านตุ่นที่มีน้ำอยู่ไม่มากนัก เบื้องหน้าคือดอยหลวงตระหง่านเป็นฉากหลัง น้ำจาก13 ลำสาขาจากดอยหลวงไหลลงมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ก่อนจะไหลผ่านลำห้วย ลำเหมือง ดูแลชีวิตของคน 11 หมู่บ้านในตำบลบ้านตุ่น และไหลลงสู่กว๊านพะเยา

น้ำจากกว๊านพะเยาจะไหลลงสู่แม่น้ำอิง หนึ่งในแม่น้ำไม่กี่สายที่ไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ และไหลไปรวมกับแม่น้ำโขง หล่อเลี้ยงผู้คนหลายหมื่นชีวิตในอีก 4 ประเทศ

วิชาที่ 2 ใช้ภูมิปัญญาชนะสงครามน้ำและสร้างความปรองดอง

แม้บ้านตุ่นจะมีน้ำแล้วก็แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับชุมชน ทำให้เกิดปัญหาแย่งน้ำกันขึ้น หมู่บ้านในพื้นที่ดอนหรือที่อยู่สูงกว่าได้รับน้ำน้อยกว่า เพราะน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หากจะใช้น้ำก็ต้องใช้ปั๊มน้ำซึ่งไม่คุ้มค่าและเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างหมู่บ้าน

วันนี้เราได้ไปดูสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้

“แตปากฉลาม” ปูนรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายลิ่มตั้งอยู่บริเวณทางแยกของแม่น้ำสองสาย เมื่อกระแสน้ำสายหลักไหลลงมาปะทะก็จะมีแรงดันให้น้ำส่วนหนึ่งไหลไกลไปยังที่สูงกว่าได้ และบางส่วนก็ไหลลงลำเหมืองเหมือนเดิม

พ่อสม หรือ นายสม หลวงมะโนชัย ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้เล่าให้เราฟังว่าเกิดจากการศึกษาภูมิปัญาท้องถิ่นแล้วนำมาปรับใช้ เริ่มแรกพ่อสมใช้ไม้ไผ่และวัสดุธรรมชาติในการทำแตปลาฉลามแต่ว่าพุพังได้ง่าย ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าแตปลาฉลามช่วยแก้ไขปัญหาได้จึงลงขันช่วยกันสร้างแตปลาฉลามจากปูนขึ้นมา

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าหรือพลังงาน ไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลก็แก้ไขปัญหาการแบ่งน้ำได้สำเร็จ

พ่อสมยังย้ำอีกว่า ไม่ใช่แค่แตปากฉลามเท่านั้นที่แก้ไขปัญหาน้ำ แต่คือความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านทุกคน การแบ่งปันกันทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเท่าเทียม การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างต่อเนื่อง วันนี้อาสาสมัครจึงได้ร่วมลงมือดูแลต้นน้ำแห่งนี้ด้วย

วิชาที่ 3 เรียนรู้การเก็บกักน้ำ แบบบ้านตุ่นโมเดล

“3-3-4” ไม่ใช่เลขสลากกินแบ่งแต่คือตัวเลขของการแบ่งปันน้ำ ฉบับบ้านตุ่นโมเดล โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเปิดประตูน้ำ 3 วันเพื่อให้น้ำไหลลงไปที่กลางน้ำ ก่อนปิดอีก 10 วันเพื่อสะสมน้ำ ที่กลางน้ำก็จะเปิดประตูน้ำอีก 3 วันให้น้ำไหลลงไปปลายน้ำ และที่ปลายน้ำจึงค่อยจ่ายน้ำ 4 วัน เพื่อให้แบ่งปันให้ทุกคนมีโอกาสใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน

ทุกปีชาวบ้านจะมีกิจกรรมร่วมกันดูแลระบบการจ่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกลำเหมือง กำจัดวัชพืช หรือปลูกหญ้าแฝก ซึ่งปีนี้ก็มีแรงอาสาสมัครหนุ่มสาวอีกกว่า 60 ชีวิตมาช่วยด้วย เราช่วยกันถอนวัชพืชรอบๆ ประตูน้ำ เพราะวัชพืชที่โตจะขวางทางน้ำหรือกลายเป็นตะกอนต่อไปในอนาคต เราขุดลอกลำเหมือง จัดเก็บเศษใบไม้ กิ่งไม้ และตักตะกอนดินที่ขวางทางน้ำ ให้น้ำเดินทางได้สะดวกขึ้น

นอกจากระบบการกระจายน้ำแล้ว การพักและเก็บกักน้ำก็เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ชาวบ้านมั่นใจว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ระหว่างนั่งรถอีแต๋นแอ่วหมู่บ้าน เราจะเห็นลำเหมืองเล็กๆ ไหลผ่านหน้าบ้านแต่ละหลัง ในบ้านก็จะมีบ่อพักน้ำของตัวเอง ส่วนถังสำรองน้ำสาธารณะก็ต้องมาร่วมกันดูแล วันนี้อาสาสมัครช่วยกันทาสีถังสำรองน้ำของศูนย์เด็กเล็กที่เคยชำรุดให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

วิชาที่ 4 ปลูกแฝก เสริมไผ่ พลิกคืนความชุ่มชื้นให้ผืนดิน

ริมบ่อรับน้ำเราก็ช่วยกันปลูกเสริมหญ้าแฝก กำแพงดินธรรมชาติ เพราะหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีรากหนาแน่นและหยั่งลึก ช่วยอุ้มดินและลดการกัดเซาะของตลิ่ง ถัดจากแนวหญ้าแฝก เราปลูกเสริมไผ่พืชโตไวสารพัดประโยชน์ นอกจากรากของไผ่จะหนาแน่นแล้ว ชาวบ้านที่ยังมีการแปรรูปไผ่ที่หลากหลายและเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำเข่ง สุ่มไก่ โต๊ะ เก้าอี้ หรือเวทีที่เราใช้ในงานก็ล้วนมาจากฝีมือของชาวบ้านทั้งสิ้น

การปลูกไผ่ก็ต้องขุดดินลงไปให้ลึกประมาณหนึ่งศอก ปักลำต้นให้เอียง 45 องศา พอเวลาฝนตกลงมาน้ำจะค่อยๆ ไหลลงในดิน เวลากลบดินก็ให้แน่นพอประมาณให้ลำต้นมันคงอยู่ได้ แต่ต้องพอมีช่องว่างให้น้ำไหลลงไปด้วย ปลูกแล้วก็รดน้ำให้ชุ่มแทนคำอวยพรให้เติบโต เพียงแค่ปีเดียวต้นไผ่ก็ยืนต้นสูงกว่าเราแล้ว และสามารถใช้ประโยชน์ได้ใน 3 ปี

วิชาที่ 5 กว๊านคือแหล่งน้ำ กว๊านคือวิถีชีวิตของคนพะเยา

จากการทำกิจกรรมที่ต้นน้ำบ้านตุ่นตลอดวัน วันรุ่งขึ้นเราเดินทางไปดูปลายน้ำที่โฮงเฮียนกว๊านพะเยา เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนปลายน้ำที่อยู่ติดกับกว๊านพะเยา อากาศเย็นๆ ในช่วงเช้ากับผืนน้ำกว้างใหญ่ที่ใสสะอาด ชาวบ้านพายเรือหาปลาอยู่ไกลๆ เห็นแล้วชวนให้นึกถึงบรรยากาศแบบญี่ปุ่น แต่อยู่ในบ้านเรานี่เอง

“แต่ก่อนก็ไม่สะอาดขนาดนี้นะ มีผักตบชวาเยอะเลย ชาวบ้านก็ช่วยกันกำจัดออก อย่างเที่ยวชมวัดก็มีเรือหางยาววิ่ง มีการขี่เจ็ตสกีในกว๊านด้วย คราบน้ำมันลอยเต็มกว๊านไปหมด”สมศักดิ์ เทพตุ่น ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จังหวัดพะเยา เล่าให้เราฟังถึงปัญหาต่างๆ ก่อนจะมาเป็นกว๊านพะเยาที่สวยสงบอย่างปัจจุบัน

ทุกวันนี้ชาวบ้านใช้เพียงเรือพายเท่านั้นภายในกว๊าน การประมงก็ใช้เครื่องมือพื้นบ้านอย่างแห อวน สุ่ม ข้อง หรือไซ เราได้เห็นเครื่องมือประมงที่หลากหลาย ในกว๊านเองยังแบ่งออกเป็น 2 เขต คือเขตที่จับปลาได้ตลอดทั้งปี และเขตที่ห้ามจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ เพื่อให้ปลาได้เพิ่มจำนวน

เราจึงเรียนรู้ว่าการจัดการลุ่มน้ำไม่ใช่การจัดการเฉพาะน้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการจัดการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และจัดการทรัพยากรในน้ำอย่างปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ อีกด้วย

\

วิชาที่ 6 สิ่งมีชีวิตในน้ำ ตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ

“น้ำใสไม่ได้แปลว่าเป็นน้ำที่ดี” เราได้เห็นน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่พี่ๆ เก็บตัวอย่างมาให้ดู ซึ่งน้ำจากแต่ละที่ก็มีตะกอนดินหรือสารอาหารแตกต่างกัน

แม้บ้านตุ่นจะมีน้ำที่ใสสะอาด แต่เชื่อไหมว่าชาวบ้านบัว หมู่บ้านซึ่งอยู่ติดกันตรวจพบสารพิษปนเปื้อนในเลือดถึงร้อยละ 90 ของคนในหมู่บ้าน อันเกิดจากการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร คนในชุมชนจึงพร้อมใจกันเลิกใช้สารเคมีทั้งหมด กลายเป็นหมู่บ้านอินทรีย์และหันมาทำการเกษตรผสมผสาน

นอกจากสารเคมีแล้วคุณภาพน้ำยังรวมถึงปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ตะกอนดิน และสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด เราได้ทำกิจกรรม “นักสืบสายน้ำ” สำรวจสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำที่เราตักขึ้นมาจากกว๊านพะเยาด้วยตัวเอง เราเห็นกุ้งฝอย มวนน้ำ ตัวอ่อนหนอนปลอกน้ำ และแมลงเล็กๆ อีกหลายชนิดที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ใช้ชีวิตในแหล่งน้ำที่สะอาดและเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำได้ดี โดยเราไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเลย

วิชาที่ 7 การจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จ

“การจัดการน้ำของบ้านตุ่นถือว่าดีที่สุดไหมครับ หรือได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติแล้วหรือยัง ถ้าเราเทียบกับการจัดการน้ำในประเทศอื่น” หนึ่งในอาสาสมัครยกมือถามในชั้นเรียน

“การจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จ” ดร. รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ให้คำตอบ ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเติมว่า “การจัดการน้ำทุกอย่างทำตามภูมิสังคม ทำตามสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ถ้าพื้นที่ลาดชันก็ไม่ต้องใช้ระบบสูบ หรือเราไปทำงานที่แม่แจ่มที่สูบน้ำจากที่ลุ่มไปข้างบนแล้วจ่ายน้ำลงมาข้างล่างใช้ซ้ำอีกรอบหนึ่งก็มี ทุกอย่างเราต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและเพื่อให้เห็นผลจริง”

ดร. รอยบุญ ยังเน้นอีกว่าการจัดการน้ำต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านเอง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

จากการเดินทางทั้งหมด เราจะเห็นว่าการดูแลลุ่มน้ำให้เรามีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี ให้เรามีน้ำสะอาดและปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“คนปลายน้ำ” และ “คนในเมือง” ควรทำอะไรเพื่อดูแลทรัพยากรน้ำ

คนปลายน้ำก็มีส่วนสำคัญมากๆ ในการดูแลน้ำ โดยเริ่มต้นจากการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและหาแนวทางการประหยัดน้ำ เช่น

  • รวบรวมผ้าไว้ซักพร้อมกัน หรือล้างจานทีละหลายๆ ใบช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่า
  • เก็บน้ำฝนมาใช้รดน้ำต้นไม้ดูบ้าง
  • เปลี่ยนมาใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ลดการใช้น้ำสิ้นเปลืองกับการกำจัดของเสีย
  • เลือกกินผักอินทรีย์ช่วยลดการใช้สารเคมีที่อาจปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำได้ด้วย
  • แค่พกขวดน้ำก็ช่วยลดการใช้น้ำจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกได้และลดขยะด้วย

เพียงเท่านี้เราทุกคนก็สามารถเป็น “พยาบาลลุ่มน้ำ” ได้เหมือนกัน!

โครงการอื่นๆ