พยาบาลลุ่มน้ำ สรุปบทเรียน TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำครั้งที่ 2 เขาใหญ่ 1-3 พ.ย 2562

Harmony
1 พฤศจิกายน 2562
TCP Spirit

เราร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างไรบ้าง? 

นี่คือคำถามที่สังคมพยายามหาคำตอบทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเรื่องน้ำ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำใด จะอยู่ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ หรือเมืองเล็กๆ เมื่อมีปัญหาเรื่องน้ำเกิดขึ้นก็มักจะมีหลายฝ่าย หลายพื้นที่ ได้รับผลกระทบไปพร้อมๆ กัน 

เพื่อให้ได้คำตอบที่เข้าใจง่ายและทุกคนนำกลับไปแก้ปัญหาได้ทุกพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ TCP จึงจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่’ เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้อาสาสมัครที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ปัญหาเรื่องน้ำและวิธีการจัดน้ำที่ทุกคนนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ โครงการดูแลลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยในระยะยาวของกลุ่มธุรกิจ TCP 

กิจกรรมครั้งนี้เราพาอาสาสมัครจากทั่วประเทศกว่า 100 คน เดินทางไปทำความเข้าใจต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติกันที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้อาสาสมัครได้เห็นความสัมพันธ์ของป่าและน้ำ หลังจากได้ซึมซับความสวยงามของธรรมชาติกันแล้ว เราจะไปเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำและการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ กับ พรรณราย พหลโยธิน และ โรจนี ลีลากุล เจ้าของพื้นที่ที่ร่วมกันพัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านการจัดการน้ำและมีวิทยากรพิเศษคือ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มาให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบพื้นที่แก่อาสาสมัครและอธิบายการนำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในการดูแลดินและน้ำ

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากได้ความรู้กลับบ้านเต็มกระบุง เรายังมีนักแสดงหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาร่วมเรียนรู้ ร่วมทำกิจกรรม และส่องต่อแรงบันดาลใจดีๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับอาสาสมัครในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2 แล้ว

โครงการ TCP Spirit เป็นโครงการอาสาสมัครของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ รวมทั้งแบรนด์ขนมขบเคี้ยวซันสแนค โดยต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน

 

 

จากการเรียนรู้ตลอด 3 วัน 2 คืนที่เขาใหญ่ เราจึงได้จดเลกเชอร์ 10 วิชา เรื่องความสัมพันธ์ของดินและน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณามาแบ่งปันกัน เพื่อให้ทุกคนที่อยากช่วยกันดูแลลุ่มน้ำนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างถูกวิธี

 

วิชาที่ 1
ทำความรู้จักลุ่มน้ำ
ทำความรู้จักความหมายของ ‘ต้นน้ำ’ และ ‘ลุ่มน้ำ’ ก่อนลงมือพยาบาลลุ่มน้ำด้วยกัน

 

​​​​​​

ก่อนที่เราจะได้ลงมือพยาบาลลุ่มน้ำด้วยกัน อาสาสมัครจากทั่วประเทศจะต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำเสียก่อน ฉัตรปรีชา ชฎากุล หัวหน้าสถานีวิจัยลุ่มน้ำมูล จึงชวนอาสาสมัครมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ต้นน้ำ’ และ ‘ลุ่มน้ำ’ เพื่อความเข้าใจตรงกันและความถูกต้องของข้อมูล

เริ่มจากต้นน้ำ เพราะเป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุดและพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารทั้งหลาย ‘ต้นน้ำ’ มักเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบนที่สูงอย่างภูเขา เช่นป่าลุ่มน้ำลำตะคองที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 

ส่วนคำว่า ‘ลุ่มน้ำ’ คือพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดที่อยู่เหนือจุดไหลออกของน้ำ มีลักษณะเหมือนแอ่งกะทะ โดยมีขอบกะทะเป็นสันปันน้ำ ลุ่มน้ำมีองค์ประกอบ ดังนี้ ทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน ที่ดิน หิน แร่ธาตุ , ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ป่าไม้ สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ, ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัย ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม การใช้ที่ดินประเภทต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรเหล่านี้อยู่รวมกันอย่างกลมกลืนเป็นลุ่มน้ำ ดังนั้นการพยาบาลลุ่มน้ำจึงมุ่งจัดการที่ดินและการใช้ที่ดินของคนในลุ่มน้ำนั้นๆ

ด้วย ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรสำคัญของคน สัตว์ และสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ใช้น้ำในแทบทุกกิจกรรมในชีวิต หลายคนใช้ แต่น้อยคนที่รักษา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และนำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังมีปัญหาใหญ่ เพราะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่คอยดูดซับน้ำบนภูเขาถูกทำลาย สูญเสียพื้นที่ต้นน้ำให้กับการเกษตรจนกลายเป็นเขาหัวโล้น คนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำจึงได้รับผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องขึ้นมารู้จักกับ ‘ลุ่มน้ำ’ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน  

 

วิชาที่ 2
ความสัมพันธ์ของป่ากับน้ำ
เดินป่าสำรวจลุ่มน้ำลำตะคองที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้

หลังจากเรียนรู้เรื่องลุ่มน้ำกันแล้ว เราพาอาสาสมัครไปเดินสำรวจป่าลุ่มน้ำลำตะคองกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวนครราชสีมา และป่าแห่งนี้ยังเปรียบเสมือนเขื่อนเก็บน้ำธรรมชาติที่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี

 

 

เราออกเดินเท้าจากด้านหน้าเข้าไปเพียงนิด ธรรมชาติก็ต้อนรับเหล่าอาสาสมัครด้วยอากาศเย็นสบายและเสียงน้ำไหลสุดผ่อนคลาย ฉลาด พุทธบาล วิทยากรประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บอกเราว่า ป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบแล้ง จัดอยู่ในหมวดป่าไม่ผลัดใบ ป่าพวกนี้จะเขียวชอุ่มทั้งปี

ลำตะคองเป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดนครราชสีมา มีต้นกำเนิดจากเขาฟ้าผ่า ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ไหลผ่านอำเภอปากช่อง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และบรรจบกับแม่น้ำมูลท้ายน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) 

ถึงแม้ว่าลุ่มน้ำลำตะคองจะมีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไว้คอยกักเก็บน้ำฝน และมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำมีความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และทำธุรกิจ จึงมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดปัญหาการจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง

การเดินทางมาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในครั้งนี้จึงเป็นการพาอาสาสมัครมาสัมผัสกับสายน้ำ ได้เห็นความยิ่งใหญ่และความสวยงามของธรรมชาติ เพื่อที่จะได้เข้าใจลุ่มน้ำ รู้จักการอนุรักษ์น้ำอย่างถูกวิธี และสร้างจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นหลัง

ระหว่างสองข้างทางเราสังเกตเห็นหญ้ารังไก่ เดินไปหน่อยก็เจอต้นหวาย ถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า พอเงยหน้าตามเสียงวิทยากรก็มีเถาวัลย์เส้นหนาระโยงระยางจากต้นนู้นไปยังต้นโน้น นับเป็นการพึ่งพากันของต้นไม้ใหญ่กับเถาวัลย์ เวลากระแสลมพัดแรงรากของต้นไม้พยุงตัวเองไม่ได้ ก็อาศัยเพื่อนบ้านอย่างเถาวัลย์คอยยึดเหนี่ยวเอาไว้ แถมเถาวัลย์ยังเป็นสะพานเชื่อมของสัตว์ที่หากินบนต้นไม้อย่างชะนี กระรอก 

ระหว่างศึกษาวิทยาการชวนอาสามัครหยุดดู ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ เป็นบริเวณที่แหล่งน้ำเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง ถ้าไปไหนก็ตามแล้วสังเกตเห็นน้ำนิ่งแสดงว่าลึกแน่ แต่ถ้าตรงไหนน้ำไหลแรง สบายใจได้ว่าน้ำตื้น น้ำนอกจากจะมาจากฝน ยังมาจากต้นไม้ด้วยนะ ดินก็มีส่วนในการเก็บน้ำเหมือนกัน ยิ่งดินเหนียวยิ่งเก็บน้ำได้ดี เพราะช่องว่างระหว่างดินค่อนข้างถี่

ถ้าต้นไม้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า จิงโจ้น้ำก็เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำด้วยเช่นกัน ถ้าสัตว์อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นได้ คนก็ดื่มน้ำจากแหล่งน้ำนั้นได้เหมือนกัน ส่วนสีของน้ำในห้วยลำตะคองจะมีลักษณะขุ่นเล็กน้อยเพราะตลอดเส้นทางที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าต้องไหลผ่านหินภูเขาซึ่งเป็นหินทราย (ถ้าน้ำใสแจ๋วต้องไหลผ่านหินภูเขาที่เป็นหินปูน อย่างน้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี)  

 

 

ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติอาสาสมัครจะได้ยินเสียงน้ำไหลซู่ซ่าตลอดทาง เพราะน้ำในพื้นที่ต้นน้ำลำตะคองนั้นไหลหลากตลอดทั้งปี การมีป่าที่สมบูรณ์จะเป็นตัวช่วยอุ้มน้ำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถึงคราวฝนตก ป่าจะช่วยดูดซับน้ำเอาไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงไปท่วมพื้นที่ด้านล่าง และเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งรากของต้นไม้ที่เคยดูดซึมน้ำเอาไว้จะค่อยๆ คายน้ำออกมา การเดินป่าในครั้งนี้จึงทำให้อาสาสมัครเห็นความสัมพันธ์ของน้ำและป่าที่ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี 

“ทุกสิ่งทุกอย่างมนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทนได้  แต่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทดแทนไม่ได้ คือสายน้ำ และความสมบูรณ์ของธรรมชาติ” ฉลาด ทิ้งท้ายแก่เราและอาสาสมัคร

 

วิชาที่ 3
ออกแบบพื้นที่ด้วยหลุมขนมครก
ทำความเข้าใจการออกแบบพื้นที่เก็บน้ำด้วย ‘โคก หนอง นา โมเดล’ 

ก่อนลงมือแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีทะลักเข้ามาในที่ดินและการพังทลายของหน้าดินริมลำธาร ขอชวนทำความเข้าใจ ‘หลุมขนมครก’ หรือ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ อันเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 กันก่อน

  โคก หนอง นา โมเดล ก็คล้ายกับ 1 ถาดขนมครก ถ้าถาดเรียบก็จะเก็บน้ำไว้ไม่ได้ การขุดหลุมขนมครกบนพื้นที่จะทำให้น้ำขังในดินได้นานขึ้น น้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงจะไม่ไหลบ่าจนเกิดน้ำท่วมเหมือนปัจจุบัน ในพื้นที่เขาหัวโล้นก็ใช้ได้ เพียงขุดหนองไว้เก็บน้ำ ปลูกพืชเป็นหน้าขั้นบันไดให้รากอุ้มน้ำในดิน ถ้าทำนาขั้นบันไดบนไหลเขาได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้น้ำฝนที่ตกลงมาอยู่ในพื้นที่ดินของเราได้นานขึ้น และต้องปลูกแฝกบริเวณสันดินเพื่อช่วยให้ยึดเกาะหน้าดินได้ดี นอกจากหลุมขนมครกจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังช่วยจัดเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีด้วยนะ

 

 

วิชาที่ 4
บำบัดน้ำเสียด้วย ‘สปา’
แก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลทะลักเข้ามาในที่ดินด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’

หากขุดบ่อรับน้ำในบ้านของตัวเอง แต่น้ำก่อนหน้าดันไหลผ่านบ้านเพื่อนที่ใช้สารเคมีทางเกษตร แล้วจะบำบัดอย่างไร รัชกาลที่ 9 ทรงวิจัยและทำเรื่องการบำบัดน้ำเสียที่บึงมักกะสันและบึงพระรามเก้า รวมทั้งทดลองวิจัยที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ในการบำบัดน้ำเสียที่ไหลผ่านเมือง ท่านตรัสว่าให้ใช้วิธีธรรมชาติ ได้ประโยชน์และประหยัด

ทางศูนย์เลยนำ ‘ระบบบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ’ มาแปลงให้เข้าใจง่ายด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’ เริ่มจาก

 

 

นอนพัก เป็นการขุดหนองรับน้ำให้น้ำเสียไหลเข้ามานอนพัก รอน้ำเสียนอนเต็มอิ่มจนน้ำตกกะกอนใสขึ้น แล้วปล่อยไหลไปยังบ่ออาบแดด ขอย้อนไปตอนขุดหนองสักนิด เมื่อขุดเป็นบ่อแล้วให้ย่ำมูลวัวสดผสมฟางยาแนวผนังบ่อด้วย เพราะมูลวัวจะช่วยปรับปรุงดินให้มีความหนาแน่น ไม่มีโพรง เป็นผลให้ดินเก็บน้ำได้ดี 

 

 

อาบแดด ขุดคลองไส้ไก่ให้คดเคี้ยว ลึกบ้าง ตื้นบ้าง เพื่อให้น้ำอยู่ในระบบบำบัดน้ำเสียได้นานที่สุด นอนอาบแดดให้แผดเผา เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค ส่วนบริเวณคลองไส้ไก่แนะให้ปลูกพืชน้ำอย่างกก ธูปฤาษี พุทธรักษา เพื่อใช้รากดูดสารพิษ

 

 

กินอากาศ บ่อสุดท้ายเป็นพื้นที่พักน้ำสะอาดหลังจากการบำบัดมาสองบ่อ อาจกั้นฝายและคันดินเป็นจุด ทำเป็นน้ำตกและเติมอากาศ เพื่อความชัวร์ว่าน้ำจะปลอดภัยไร้สารพิษ ให้โยนระเบิดจุลินทรีย์เท่าลูกเปตองลงไปด้วยเพื่อปรับน้ำให้มีคุณภาพดี แล้วเจ้าจุลินทรีย์ที่ฝังอยู่ในบ่อจะคอยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ที่เป็นสารอินทรีย์ในน้ำ พอย่อยสลายเสร็จ พร้อมส่งน้ำไปสู่หนองเก็บน้ำ ส่งเข้านา ส่งเข้าแปลงผัก และอุปโภคบริโภค เป็นอันจบคอร์สสปาน้ำเสียแต่เพียงเท่านี้

 

วิชาที่ 5
กักเก็บดินดี
แก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธารด้วยการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’

บริเวณหนึ่งของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ติดกับลำน้ำลำตะคอง เวลาน้ำหลากจะชะล้างหน้าดินลงไปอยู่ในลำน้ำเสียหมด ส่งผลให้ลำนำตื้นเขิน เขื่อนแทนที่จะกักเก็บน้ำกลายเป็นกักเก็บดิน วิทยาการแนะว่าทุกพื้นที่ติดริมน้ำหรือพื้นที่ลุ่มน้ำ ควรมีระบบอนุรักษ์ดิน เพื่อเก็บตะกอนดินดี ไว้เป็นฮิวมัสและปุ๋ยธรรมชาติให้พื้นที่ของตัวเอง

จึงเกิดการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’ เพื่อแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธาร 

 

 

กักดิน ด้วยการปรับหน้าดินลาดชันให้เป็นนาขั้นบันได เก็บน้ำ ด้วยการขุดคลองไส้ไก่ดักตะกอนดีเก็บไว้ในหนองน้ำ ปลูกแฝก เพื่ออาศัยประโยชน์จากรากแฝกให้ช่วยยึดหน้าดินและลดการชะล้างพังทลาย แฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ แนวแถวของแฝกจะเป็นเสมือนรั้วช่วยชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่าหน้าดิน 

วิธีการนี้ใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นริมตลิ่ง ริมลำธาร หรือแม้แต่พื้นที่เขาหัวโล้น

 

 

วิชาที่ 6
คิดอะไรไม่ออกให้ ‘ปลูกกล้วย’
หน้าดินพัง เก็บน้ำไม่ดี กล้วยช่วยได้

หากเดินเข้าไปในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ ไม่เพียงเห็นกองทัพต้นกล้วย แต่เจ้าบ้านยังติดป้ายอวดสรรพคุณชวนทำตามว่า ‘คิดอะไรไม่ออกปลูกกล้วย’ วิทยากรจากศูนย์ฯ เฉลยให้ฟังว่าทำไมต้องปลูกกล้วยก่อนปลูกพืชพรรณชนิดอื่น เพราะก่อนจะเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ ที่ดินผืนนี้เป็นดินสีน้ำตาลแห้งกรัง กักเก็บน้ำในดินได้ไม่ดี ทางศูนย์เลยเริ่มต้นปลูกกล้วยเป็นพืชเบิกนำ ลำต้นของกล้วยเก็บน้ำและความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี การปลูกกล้วยจึงเหมาะมากสำหรับใช้ปรับคุณภาพดินบนภูเขาหัวโล้น

ที่สำคัญ กล้วยยังเป็นพืชที่ใจดี ช่วยเอื้อเฟื้อความชุ่มชื้นไปยังพืชข้างเคียงที่ปลูกเคียงคู่กันให้เจริญงอกงาม และแทบทุกส่วนของต้นกล้วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ใบใช้นำไปห่อขนมก็ดี หยวกกล้วยก็ใช้แกงได้อร่อย

 

 

วิชาที่ 7
ใครฆ่าหญ้า
ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าฆ่าหญ้า แต่ใช้หญ้าฆ่าหญ้า

การทำเกษตรกรรมในทุกวันนี้เกษตรกรจะเลือกใช้ยาฆ่าหญ้าที่อุดมไปด้วยสารเคมีกำจัดหญ้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วและลดขั้นตอนในการทำงาน แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการ ‘ตัดให้เตียน’ แล้วไม่ต้องขนย้าย ปล่อยหญ้าไว้คอยห่มดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดินที่อยู่ด้านล่าง

เมื่อความชุ่มชื้นเพียงพอจะเกิดความร้อนใต้กองหญ้า ซึ่งทำให้จุลินทรีย์เจริญได้ดีมากกว่าเดิม การย่อยสลายก็ดีตามไปด้วย จนเกิดฮิวมัสและเป็นปุ๋ยธรรมชาติราคา 0 บาท ที่ช่วยบำรุงดินต่อไป 

แถมอีกนิด ความจริงหญ้าตายได้เองถ้าไม่เจอแสงแดด เพียงแค่เอาไม้มาทาบหรือเอาร่มเงามาบังส่วนที่ไม่ต้องการ หญ้าก็จะตายไปเองโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปตัด

 

 

วิชาที่ 8
หัวคันนาทองคำ
ปลูกผลไม้และผักสวนครัวบนหัวคันนาให้รุ่มรวยผลผลิตดั่งทองคำ

ภายในศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่มีนาข้าวอินทรีย์ พิเศษตรงคันนาทองคำ เพราะบริเวณหัวคันนามีทั้งพืชทานได้และพืชใช้ประโยชน์ได้ แต่ดันไปขัดกับความเชื่อของชาวบ้านที่มักจะไม่ปลูกไม้ใหญ่บนคันนา ด้วยเงาของต้นไม้ทาบทับลงบนนาข้าว เป็นผลให้ข้าวเจริญเติบโตไม่ดี แต่วิทยากรแนะวิธีแก้ ง่ายนิดเดียว เพียงวางคันนาให้เป็นแนวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เท่านี้เงาก็จะไม่ทอดบนนาข้าว แถมมีหัวคันนาทองคำไว้กิน ไว้ใช้ ตลอดทั้งปี

ถ้าปลูกเยอะจนกินคนเดียวไม่หมดก็แบ่งปันเพื่อนบ้านเรือนเคียงได้อีกด้วย

 

 

วิชาที่ 9
ปลูกป่า 5 ระดับ
ปลูกพืชผสมผสานในแปลงเดียวกัน แต่ระดับความสูงไม่เท่ากัน

วิทยาการเล่าว่า อดีตนาข้าวถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโคก เพื่อรองรับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ผ่านใต้วิธีการปลูกป่า 5 ระดับ เป็นการปลูกต้นพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน มีความสูงต่างระดับกัน เพราะความแตกต่างของชนิดพืชและความต่างของระดับความสูง จะทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่า คล้ายการเลียนแบบระบบนิเวศของป่าตามธรรมชาติ เมื่อมีฝนตกลงมารากของพืช 5 ระดับ จะช่วยอุ้มน้ำไว้ใต้ดินมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วป่า 5 ระดับมีอะไรบ้าง

 

 

ไม้ระดับสูง เป็นไม้เนื้อแข็ง พวกตะเคียน สัก ประดู่ ไม้แดง

ไม้ระดับกลาง เช่น มะพร้าว มะม่วง

ไม้ระดับเตี้ย เน้นผักสวนครัว อาทิ อัญชัน 

ไม้หัวใต้ดิน พวกเผือก หัวมัน

ต้นไม้ยิ่งสูง รากยิ่งยาว ทำให้จุลินทรีย์เดินทางตามรากของต้นไม้ ส่งผลให้พื้นที่นั้นจะยิ่งอุดมสมบูรณ์และเกิดความสมดุล แถมพ่วงมาด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง แต่ได้ประโยชน์ถึง 4 อย่าง เริ่มจากการปลูกพืชที่กินได้ ปลูกพืชที่นำมาใช้งานได้ และปลูกพืชที่นำมาสร้างที่อยู่อาศัยได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง สำหรับพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น 

 

วิชาที่ 10
น้ำหมักสารพัดประโยชน์
ทำน้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วยและปั้นระเบิดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย

สมัยเปิดศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ทำเกษตรเคมีมาก่อน ภายหลังทางศูนย์มาเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่วายมีสารพิษตกค้าง เลยตั้งใจทำน้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วย หมักจนอายุครบ 3 เดือน พร้อมใช้งาน! ก็เอามาราดลงดิน เพื่อชะล้างสารพิษในดิษและบำรุงดินให้ดีกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มจุลินทรีย์ดีให้ดิน

นอกจากจะหมักพืชเป็นน้ำ ยังปั้นระเบิดจุลินทรีย์เพื่อบำบัดน้ำเสียจากปุ๋ยหมักแห้ง ดินเลน รำข้าว แกลบเผา แกลบดิบ และน้ำหมักรสจืด ผสมคลุกเคล้ากันแล้วปั้นขนาดเท่าลูกเปตอง วางในพื้นที่ร่มสัก 7 – 15 วัน ก็พร้อมกลายร่างเป็นระเบิดลูกจิ๋วสำหรับบำบัดน้ำเสีย โดยการโยนระเบิดจุลินทรีย์ 1 ลูก เหมาะกับพื้นที่บ่อน้ำขนาด 1 ตารางเมตร 

อ้อ ทางศูนย์ไม่ได้ทำแค่น้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วยนะ ยังมีมากถึง 7 รส สำหรับใช้กับร่างกายและต้นพืช

 

 

จาก 10 วิชา ของหลักสูตร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ คงทำให้หลายบ้าน ที่ดินทุกแปลง บ้านทุกหลัง ที่อยู่ในลุ่มน้ำนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะมีที่ดิน พื้นที่เกษตร หรือเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ก็สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปจัดการน้ำไว้ใช้ในที่ดินของตัวเอง โดยเฉพาะบำบัดน้ำเสียจากสารเคมีปนเปื้อนและแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการชะล้างตะกอนดินไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อช่วยกันพยาบาลลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำที่เราพึ่งพาอาศัย ถ้านำวิธีการพยาบาลลุ่มน้ำจาก TCP spirit ไปใช้ ขอเพียงแค่ 10% ของพื้นที่ลุ่มน้ำหันมาจัดการน้ำตามแนวทางนี้และช่วยบอกต่อกับคนใกล้ชิด ก็จะสามารถช่วยพยาบาลลุ่มน้ำได้ทั่วประเทศ

โครงการอื่นๆ