โครงการอีสานเขียว หากพูดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาตอนบน ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ดประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ดังนั้น โครงการอีสานเขียว จึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2530 ที่ความช่วยเหลือจากทั่วสารทิศเริ่มมุ่งเข้าสู่ภาคอีสาน โดยบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ร่วมให้การสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านบาทในโครงการอีสานเขียว เพื่อช่วยการยกระดับรายได้ของประชาชน, ก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

หากพูดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อก่อน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงสภาพอันแห้งแล้ง กันดาร ของพื้นดิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ สาเหตุหลักเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้และน้ำสำหรับทำการเกษตร หลายต่อหลายครั้งที่ทางการได้พยายามหาหนทางที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก ของพี่น้องในภาคอีสานแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเสียที

ในปี 2530 ปัญหาการขาดน้ำอย่างรุนแรงทวีเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักและห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรภาคอีสานเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงมีพระราชกระแสกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเข้าแก้ปัญหาให้กับราษฎรในภาคอีสาน

นั่นคือที่มาของโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งต่อมารัฐบาลโดย พณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้รับโครงการนี้ไว้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล และมอบหมายให้กองทัพบกเป็นหน่วยประสานงาน มีหน่วยราชการจากหลายภาคส่วนร่วมวางแผนพัฒนาให้ภาคอีสานอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำและป่าไม้ รวมถึงภาคเอกชนอย่าง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ที่ร่วมให้การสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านบาท โครงการอีสานเขียว จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อคือ การยกระดับรายได้ของประชาชน, ก่อให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในขั้นตอนต่อไป กองทัพบกจึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามพระราชดำริ เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศชร.) และนำแผนโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับปรุงให้เหมาะสมทั้งแผนระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531-2535 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้

ความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายจึงเป็นพลังสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของแผนพัฒนาภาคอีสานตาม “โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง” และความสำเร็จแต่ละขั้นตอนก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมของคนในชาติที่มีโอกาสได้เป็นผู้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย นำไปสู่ความเป็น “อีสานเขียว” และเพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหน ปกป้องไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้มีโอกาสอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติได้ในที่สุด

อัลบั้มรูป