จากแนวคิด “เปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” ถึงการเปลี่ยน “พันธสัญญา” สู่ “การลงมือทำ” บนความร่วมมือ 3 ภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสู่วันที่ดีกว่า

20 ตุลาคม 2566

กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition...From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” ปลุกพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เร่งลงมือหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เพื่อวันที่ดีกว่า ซึ่งถือเป็นการจัดงานประชุมด้านความยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในเวทีนี้ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ขึ้นกล่าวเปิดงาน โดยยังคงเน้นย้ำว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะสามารถช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ผ่านการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันเป็นสหวิทยาการ เพราะการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ จึงอยากให้การเปิดเวทีในครั้งนี้เป็นการแชร์องค์ความรู้กันให้ได้มากที่สุด

โจทย์ในการประชุมคือ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ต่างให้ความสนใจต่อประเด็นนี้อย่างมาก ภายใต้แนวคิดการเปลี่ยนพันธสัญญาให้เป็นแนวทางปฏิบัติและลงมือทำจริงตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในมุมมองของนายสราวุฒิเห็นว่า การแก้ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่

1. ภาครัฐ เป็นภาคที่มีความสำคัญมาก หลายๆ เรื่องจะทำได้ ต้องอาศัยการอนุมัติหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะแม้วันนี้ องค์กรใหญ่อย่างกลุ่มธุรกิจ TCP และพันธมิตร อาจพอมีพลัง มีกำลังที่จะทำเรื่องความยั่งยืน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ‘คนตัวเล็ก’ อย่าง ‘เอสเอ็มอี’ ที่อาจไม่ง่ายนักที่จะคิดเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจได้ ดังนั้น การผลักดันและการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ภาคเอกชนทั้งองค์กรขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถดำเนินงานด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับการทำธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

“ถ้าในเรื่องกฎระเบียบที่อาจจะยากแล้ว สิ่งที่นอกเหนือจากนั้นควรทำให้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการมีงบประมาณสนับสนุนรายย่อยก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การตั้งกองทุนส่งเสริมความยั่งยืนให้กับเอสเอ็มอี เพราะสุดท้ายแล้วนี่คือ Value Chain ทั้งหมด ปลายทางก็จะไปเจอเอสเอ็มอีอยู่ดี” นายสราวุฒิกล่าว

2. ภาคสังคมและผู้บริโภค เพราะพลังของผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% การสนับสนุนบริษัทและองค์กรที่มีการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน รวมไปถึงการลงมือคัดแยกขยะและส่งกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ไม่ปล่อยให้บรรจุภัณฑ์ถูกทิ้งไปอยู่ในแม่น้ำหรือในธรรมชาติ ที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินมาตลอดว่าการทำงานด้านความยั่งยืนทำให้บริษัทขายสินค้าได้ดีขึ้น เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น ขอยกตัวอย่างการยกเลิกขวด PET สีของกลุ่มธุรกิจ TCP และเปลี่ยนเป็นขวด PET ใสทั้งหมด เนื่องจากขวด PET ใสเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ในมุมมองการตลาด ผู้บริโภคอาจยังรู้สึกว่าบรรจุภัณฑ์ในขวดที่มีสีสันดูน่ารับประมาณมากกว่า ดังนั้น พลังและการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความยั่งยืนนี้เกิดขึ้นได้

และ 3.ภาคเอกชนในฐานะผู้ผลิต ส่วนตัวพูดอยู่เสมอว่าวันนี้เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่ Trade Secret แต่ควรมีการแบ่งปันความรู้กันและกัน เพื่อช่วยกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมกันทั่วโลก เป็นสิ่งที่อยากเชิญชวนให้เกิดขึ้น

“วันนี้เราต้องเร่งลงมือทำแล้ว เรากำลังแข่งกับเวลา แข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับใคร สิ่งสำคัญที่สุดคือการร่วมลงมือทำ ทำทุกคน ทำไปพร้อมๆ กัน เชื่อมั่นว่าถ้าเรารวมพลังกัน สุดท้ายจะแก้โจทย์ของโลกได้และนำไปสู่วันที่ดีกว่าด้วยกันอย่างแน่นอน” นายสราวุฒิกล่าวทิ้งทาย