เปิด 6 มุมมองจากอาสาคณะเศษสร้าง ปี 3 หลักสูตร ‘เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน’

‘TCP Spirit คณะเศษสร้าง’ ปีที่ 3 กับหลักสูตร เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดเหล่า ‘อาสาสมัคร’ มาร่วมเรียนรู้ ร่วมสร้างประสบการณ์ และส่งต่อความรู้ดี ๆ ไปด้วยกัน
วันนี้เราลองมาฟัง 6 มุมมอง จาก 6 อาสาสมัครคณะเศษสร้าง หลังจากได้เรียนเรื่อง ‘ธรรมชาติหมุนเวียน’ จากการศึกษาความสำเร็จของชุมชนที่ร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และลงมือปฏิบัติอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน อาสาจะเหนื่อยหรือใจฟูขนาดไหน ไปฟังพวกเขากัน
-----------------------------------------------
“ผมเป็นลูกหลานชาวนาแต่ไม่เคยทำนาเลย คือปู่ย่าบอกว่าโตมาค่อยทำนานะ สุดท้ายพอเราโตปุ๊บเขาขายนา พอมาค่ายนี้เลยเพิ่งได้เคยทำนาครั้งแรกในชีวิตเลยครับ” เบสท์ กฤษณะ เดโชพล หนุ่มช่างยิ้ม ลูกหลานชาวนาจากจังหวัดขอนแก่น ที่เติบโตและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่
“ถ้าไม่มาค่ายนี้ ผมก็ไม่รู้เลยนะว่าประเทศไทยเรามีนกกระเรียนด้วย และที่สำคัญนกกระเรียนยังมีประโยชน์มากกับชาวบ้าน เราอาจจะคิดว่าทำไมชาวนาถึงต้องใช้ยาฆ่าแมลงเคมี เราจะไปโทษเขาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตลาดมีการแข่งขัน ถ้านาของเขาไม่ใช้สารเคมีแต่นาอื่นใช้ สุดท้ายคนก็ไปซื้อข้าวที่สวยกว่า แต่พอชาวบ้านได้รู้ข้อมูลว่าธรรมชาติเข้ามาช่วยได้ อย่างนกกระเรียนที่นี่ ที่กินศัตรูพืช กินปู กินสัตว์ต่างๆ ในนาที่มาทำลายข้าว ชาวนาก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี กลายเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันแบบบวก-บวก ชาวนาได้ผลประโยชน์ นกกระเรียนเองก็ได้ประโยชน์ เราอาจจะไม่ได้รู้เลยถ้าไม่ได้มาฟังเองจากชาวบ้านที่นี่”
“ส่วนผ้าไหมเราเคยสงสัยนะว่า ทำไมผ้าไหมถึงแพงจัง แต่วันนี้ที่ได้มาเห็นก็เข้าใจแล้วเลยว่ากว่าจะได้มาไม่ง่ายเลย กว่าจะเลี้ยงตัวหนอนจนได้เป็นไหมก็ยาก กระบวนการกว่าจะนำเส้นไหมออกมาอีก ได้ไหมแล้วก็ยังไม่เสร็จต้องมีขั้นตอนคัดวัสดุธรรมชาติมาทำสีอีก แต่ละขั้นตอนทำให้เห็นวิถีของชาวบ้านที่ทำและได้เห็นว่าไม่ง่ายเลย”
-----------------------------------------------
พลอยใส มะลิวัลย์ ขอพิมาย บัณฑิตสาวจบใหม่จากสาขาเทคโนโลยีการผลิตพืชคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติเอกพืชไร่ ที่กลับมาช่วยคุณพ่อดูแลผืนนาที่บ้านเกิดในจังหวัดบุรีรัมย์ พลอยใสเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การทำนาและสิ่งที่อยากนำกลับไปต่อยอด
“ที่บ้านทำนา เราเห็นว่าผลผลิตที่ได้มันลดลงแต่ราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงขึ้น อย่างในปีที่ผ่านมา ราคามันสูงขึ้นมากถึงกระสอบละพันกว่าบาทแล้ว ซึ่งเรารู้สึกว่าสถานการณ์มันหนักมาก”
“สิ่งที่ได้เห็นจากค่าย ทำให้คิดไว้จะกลับไปพัฒนาในเรื่องของดินก่อนเลย เพราะว่าตอนนี้การทำนามันใช้ปุ๋ยเคมีเยอะ แล้วมันเกิดการอัดแน่นของดิน เคมีสะสมในดินทำให้มันไม่ร่วนซุย ซึ่งบางทีมันก็ไม่เหมาะต่อการปลูกข้าว หลังจากที่ฤดูทำนาฤดูนี้จบ จะปรับปรุงเรื่องดินก่อนเป็นอย่างแรก เพราะว่าดินมันสำคัญมาก การที่เราจะปลูกพืชมันส่งผลหลายอย่าง ถ้าดินไม่ดีปลูกพืชยังไงก็ไม่สวย”
“ค่ายนี้เป็นกิจกรรมที่รู้สึกว่าดีและเป็นประโยชน์มาก ทั้งต่อตัวเราและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันดีมากๆ จริงๆ และยังไม่เคยเจอค่ายไหนที่ทำแบบนี้ รู้สึกประทับใจมากและได้ความรู้อย่างที่สุด จุดที่รู้สึกว่าได้ทำมากกว่าค่ายอื่น คือการลงมือปฏิบัติจริง แบบจริงมาก และยังได้พูดคุยกับเกษตรกรตัวจริง เราสงสัยอะไรเราถามได้เลย เราได้ความรู้อย่างที่มันเป็นจริงๆ เพราะบางทีทฤษฎีกับปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน เราเรียนมาอาจจะเป็นอีกแบบนึง แต่ในการปฏิบัติอาจจะเจอปัญหาอีกแบบนึง”
-----------------------------------------------
ลิลลี่ ญาณวี โปรยกลาง สาวโคราชคารมดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดใส เธอเป็นผู้ออกแบบตัวการ์ตูนนกกระเรียนสุดน่ารักที่ชื่อว่า ลิลิล เจ้าของเพจ Lilil Thai Crane ที่ออกแบบคาแรคเตอร์นกกระเรียนอ้วนกลมที่พาเราไปยังสถานท่องเที่ยวต่างๆ
“ที่หนูสนใจทำมาสคอตนกกระเรียน เพราะอยากให้ประเทศไทยมีมาสคอตประจำจังหวัดบ้าง จริงๆ แล้วหนูเป็นคนโคราช เคยไปสวนสัตว์โคราชและได้เรียนรู้เรื่องราวของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เคยสูญพันธุ์ไปกว่า 50 ปี ว่านักวิจัยค้นคว้าและเพาะพันธุ์นกกระเรียนเกิดขึ้นที่สวนสัตว์โคราชนะ แล้วก็หาที่ที่เหมาะสมให้น้องอยู่ น้องเลยได้มาที่นี่ พื้นที่ชุ่มน้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ น้องกลับมาและอยู่ในธรรมชาติเองได้ นกกระเรียนจึงเหมือนเป็นสิ่งเชื่อมโยงภูมิภาคของภาคอีสานตอนล่างด้วย”
“เป้าหมายแรกตอนสมัครค่ายคืออยากที่จะมาหาแรงบันดาลใจ แล้ววันนี้มันได้มากกว่านั้นอีกค่ะ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ แล้วก็ได้สร้างเครือข่ายกับอีกหลายคน พี่ๆ ทุกคนที่ที่น่ารักมาก และเพื่อนในค่ายก็ดีมากๆ ทุกคนมีโปรไฟล์ที่สุดยอดมากๆ เลย”
-----------------------------------------------
ปภังกร สัตย์ซื่อ หนุ่มพลังบวกขี้เล่น ที่มีชื่อเล่นว่า “ดูดี” แม้จะเรียนหนักเพื่อเป็นวิศวกร แต่เขาก็ยังแบ่งเวลาในการทำงานกับองค์กรด้านมนุษยชนระหว่างเรียนด้วย ดูดีจึงให้ความสนใจกับการพัฒนาของชุมชนเป็นพิเศษ
“การที่เรามาค่ายนี้ทำให้เราได้มีไอเดียโมเดลในการพัฒนาว่า ชุมชนเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรจากการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ข้อดีของชุมชนที่นี่ คือคนในชุมชนมีความเข้าใจ มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากๆ และค่อนข้างเปิดรับความคิดเห็น เปิดรับหน่วยงานภายนอก การที่ชุมชนเปิดโอกาสให้เราเข้ามา เราได้รับโอกาสจากชุมชน ชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากการมาของเราเหมือนกัน เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีใครหลายๆ คนที่มองว่าที่นี่น่าพาคนมาเที่ยว พาคนมาเรียนรู้ได้ หรือนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ต่อ หรืออาจจะมีใครช่วยเติมไอเดียกับบางอย่างที่ยังขาดอยู่ เราอาจจะเอาเทคโนโลยีหรือมาตรฐานต่างๆ เข้ามาช่วยจับ และช่วยในการพัฒนาพื้นที่ต่อได้ ทุกคนต่างได้ประโยชน์ ผมว่านี่ก็คือ Ecosystem อย่างหนึ่ง”
“ในโครงการนี้ไม่ได้มีแค่เด็กและเยาวชน แต่มีทั้งผู้ใหญ่ พี่ๆ องค์กรสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ หรือกลุ่มที่ทำงานด้านทะเลอยู่แล้ว เราได้มาแชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มุมมอง และความรู้ที่แตกต่างกัน พอรวมกันก็ทำให้เกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ และเป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน ค่ายนี้เป็นเหมือนจุดรวมของผู้คนที่มีความสนใจและจุดมุ่งหมายเดียวกันครับ”
-----------------------------------------------
เปรมลัดดา ผงกุลา หรือครูเปรม ครูสาวเจ้าของวิชาชีววิทยาที่อายุน้อยที่สุดในโรงเรียน ผู้ยังคงอยากรักษาพื้นที่ความชอบส่วนตัวในเรื่องของพืชและสิ่งแวดล้อมไว้ในอ้อมกอดของการทำงานในระบบ
“ตอนที่เราอยู่ในมหาลัยเราได้เห็นความรักในสิ่งแวดล้อมของทุกคนที่สำคัญและดูเป็นเรื่องใหญ่มาก ทั้งเพื่อนทั้งอาจารย์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นสิ่งที่เราทุกคนรัก แต่ความรู้สึกแบบนั้นขาดหายไปตอนที่เราไปอยู่ในสังคมนอกมหาลัย กิจรรมนี้ทำให้เราคิดถึงความรู้สึกนั้นอีกครั้ง ทุกคนกอดและให้ความสำคัญ เราเป็น Global citizen (ประชากรของโลก) เหมือนกัน”
“เปรมอยากจะพัฒนากับเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน แต่ก่อนหน้านี้เห็นว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เราคนเดียว แต่พอมาได้เห็นว่ามีชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้จะต้องมีใบปริญญาก็ทำได้ เขาก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ได้มีนโยบายอะไร เขาทำเองอยู่แล้ว เขาทำเป็นวิถีการดำรงชีวิตของเขา แล้วมันธรรมชาติมาก ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนขับเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ คนรวยหรือคนธรรมดา ทุกคนมีส่วนร่วมได้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราคิดว่าจะกลับไปทำในส่วนของเราให้ได้เหมือนที่เราได้เห็นชาวบ้านที่นี่ทำ”
-----------------------------------------------
ฝ้าย กฤษติชัย จันทร์แก้ว หนุ่มสถาปัตย์หน้ามนคนบุรีรัมย์ กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘รีสอร์ทเพื่อการท่องเที่ยวนกกระเรียนพันธุ์ไทย’ ได้มาทำกิจกรรมและก็เก็บข้อมูลงานวิจัยไปในตัว
“ผมประทับใจทุกกิจกรรมเลยครับ เพราะแต่ละกิจกรรมเราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเราได้และนำไปต่อยอดในการเรียนได้ด้วย มาที่นี่ผมได้เรียนรู้เรื่องการใช้พื้นที่ในการย้อมไหม ทอผ้าไหม หรือแปรรูปผลผลิต ในงานของเรา เราต้องเอาไปคิดออกแบบว่าต้องใช้พื้นที่ยังไงบ้างหรือการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเลี้ยงนกกระเรียนไปด้วย เราก็เลยได้นำข้อมูลพวกนี้เพื่อที่จะไปต่อยอดในโครงการของเรา และนำไปแก้ปัญหาเชิงพื้นที่โลเคชันอื่นได้”
“กิจกรรมนี้มาบ้านเกิดเราเอง รู้สึกดีใจมากๆ ที่เพื่อนๆ ที่มาร่วมโครงการได้เห็นบรรยากาศของบ้านเราเหมือนเราได้เปิดบ้านรับแขก ถึงอาสาจะมีความหลากหลายทั้งเรื่องอายุ การทำงาน แต่ว่าแต่ละคนมาปุ๊บก็คือเป็นเพื่อนกันเป็นพี่เป็นน้องกันปั๊บ รู้สึกเป็นค่ายที่อบอุ่นมาก”