TCP Spirit คณะเศษสร้างปี 3 .. ถอดบทเรียนการฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจและด้วยหัวใจ

บุรีรัมย์ จังหวัดที่เคยขึ้นชื่อว่าแห้งแล้งจนมีคำพังเพยว่า “บุรีรัมย์ตำน้ำกิน” แต่วันนี้เราจะไปเรียนรู้การพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งด้วยการทำเกษตรอินทรีย์และเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงเท่านั้น ที่สำคัญทุกวันนี้บุรีรัมย์ยังได้ฉายาใหม่ว่าเป็นบ้านของนกกระเรียนไทยอีกด้วย ในปีนี้กิจกรรม ‘TCP Spirit คณะเศษสร้าง’ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ในหลักสูตร เฮียนธรรมชาติหมุนเวียน เบิ่งนกกระเรียนฟื้นคืน ได้พาอาสาสมัครกว่า 50 คนทั่วประเทศไปเรียนรู้ความสำเร็จของชาวบุรีรัมย์และลงมือฟื้นฟูบ้านของนกกระเรียนร่วมกัน เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา (ชมวิดีโอ คลิก)
“น้ำ เป็นเป้าหมายการดูแลของโลก ทั้งตัวอย่างของเมืองฟองน้ำในจีน โคเปเฮเกน และอีกหลายหลายประเทศ ไทยก็มีป่าพรุ ที่นราธิกาส กรุงเทพมีสวนเบญกิติ ที่ช่วยรองรับและบริหารจัดการน้ำในเมืองเช่นกัน วันนี้ผมชวนทุกคนมาเรียนรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำ นาข้าว และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างนกกระเรียน อีกตัวอย่างในการดูแลโลกที่จังหวัดบุรีรัมย์” คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ ไฮ่! X DHC และซันสแนค กล่าวถึงความสำคัญและเป้าหมายในการมาเรียนรู้ครั้งนี้
แดดร่ม แต่ลมไม่ตก เมื่อเราเดินทางมาถึง ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เสียงเพลงคลอเบาๆ จากประธานนักเรียนอย่างพี่อเล็กซ์ เรนเดลล์ และขับกล่อมไปกับเสียงกีต้าร์ของเจสซี่ เมฆ เมฆวัฒนา โดยมีเสียงร้องของนกกระเรียนคอยให้กำลังใจ ให้อาสาพร้อมเรียนรู้ไปกับ 5 รายวิชารักษ์โลก
วิชาที่ 1 เศษสร้างวิทยา
หมุดหมายแรกเริ่มต้นกันที่ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากที่ไม่มีจรเข้ แต่มีนกกระเรียน นกปากห่าง นกกระสา เป็ดแดง และนกน้ำอีกหลากหลายสายพันธุ์ ไอน้ำลอยอ้อยอิ่งเหนือบึงน้ำทำให้อากาศแสนสดชื่นจนอยากจะสูดหายใจให้เต็มปอด
“ภาพที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ คือ ‘ความฝัน’ ของนักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์ในเมืองไทย สมัยผมเริ่มดูนกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เวลาพูดถึงนกกระเรียนพันธุ์ไทย ใฝ่ฝันอยากจะดูก็ไม่มีโอกาส เมืองไทยไม่เหลือในธรรมชาติแล้ว ถ้าอยากไปดูต้องไปที่อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำในเวียดนามเท่านั้น” ดร. เพชร มโนปวิตร ครูใหญ่ของคณะเศษสร้าง พูดถึงพี่แจ๋วแหววและพี่เฉิดโฉม สองนกกระเรียนไทยที่มาต้อนรับเราในวันนี้ ซึ่งครึ่งหนึ่งเคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วกว่า 50 ปี
“นกสูญพันธุ์ไปสักชนิด แล้วยังไง? ความหลากหลายทางธรรมชาติหายไปแล้วจะเป็นอย่างไร?” ครูใหญ่ ชวนตั้งคำถาม ก่อนที่จะเล่าให้เราเห็นภาพว่า ถ้าโลกทั้งใบเปรียบเหมือนเครื่องบินลำหนึ่ง สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็อาจเปรียบเสมือนกับโครงสร้างต่างๆ ของเครื่องบินที่มีหน้าตาและหน้าที่ที่ต่างกัน บางส่วนเป็นโครงสร้าง บางส่วนเป็นน็อต แต่ต่างคอยพยุงโครงสร้างของเครื่องบินทั้งลำไว้ ปัจจุบันเราเห็นว่าน็อตหลายตัวร่วงหล่นหลุดหายไป บางตัวที่เหลืออยู่ก็พังและทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เราไม่มีทางรู้เลยว่า น็อตตัวไหนจะเป็นตัวสุดท้าย ก่อนที่เครื่องบินทั้งลำจะพังทลายลงมา
แต่ธรรมชาติต่างจากเครื่องบินตรงที่ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าพวกเราหันมาร่วมมือกันอย่างเข้าใจ ตัวอย่างโครงการอนุรักษ์และปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับสู่ธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่สำคัญ และได้รับการยอมรับจากมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) ให้เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ระดับโลกอีกด้วย
และชุมชนจะมีส่วนร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในการฟื้นคืนสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ได้อย่างไร? เราจะได้มาเรียนรู้กันในวิชาถัดไป
วิชาที่ 2 นิเวศวิทยาและการฟื้นฟู (Regenerative)
“เราเหมือนเป็นอิฐก้อนแรก แต่สิ่งที่จะทำให้บ้านหรือกำแพงคงอยู่ได้นั้น มันต้องมีอิฐก้อนอื่นๆ ด้วย ซึ่งโครงสร้างสำคัญของโครงการนี้ก็คือชุมชน” ครูเติ้ล ณัฐวัฒน์ แปวกระโทก เจ้าหน้าที่วิจัยภาคสนาม องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ใครๆ ต่างก็เรียนกันว่า ‘พ่อนก’ ชายผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยแห่งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะมีการปล่อยนกกระเรียนคู่แรก จนปัจจุบันยาวนานมากว่า 10 ปี
“เราดำเนินโครงการมาแรกๆ ไม่มีใครรู้จัก เริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 และมาปล่อยที่นี่ตอนปี 2554 ปัจจุบันเราปล่อยนกกระเรียนแล้ว 166 ตัว และติดตามประชากรหลังปล่อยได้ 120 ตัว ถือว่าเกินเป้าหมายที่เราตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องเกิน 70% นกต้องรอดอยู่ในธรรมชาติ แต่ที่น่ายินดีไปกว่านั้นในปี 2559 เป็นปีแรกที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เราไปสู่ธรรมชาติจับคู่และทำรังวางไข่ได้เองตามธรรมชาติในรอบ 50 ปี และคนในชุมชนนี่แหละครับ ที่เป็นคนแจ้งข่าวจุดที่พบนกในที่ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ” ครูเติ้ลเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการดำเนินโครงการ
จากความเข้าที่ผิดที่คิดว่านกจะไปทำลายผลผลิตของข้าวในนา ค่อยๆ ถูกปรับจูนและมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นว่านกกระเรียนช่วยกินหอย ปูและแมลงศัตรูข้าว เรียกได้ว่าเป็นผู้ช่วยในการกำจัดศัตรูพืชชั้นดี ชาวบ้านจึงมีดีใจที่มีนกกระเรียนมาอยู่ในนาข้าว จากปากต่อปากทำให้ชาวนาในหมู่บ้านสวายสอและอีกหลายหมู่บ้านค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นบ้านให้กับนกกระเรียนไทยและเป็นเครื่องการันตีในอีกทางหนึ่งว่าเป็นข้าวจากนาที่ปราศจากสารพิษ
นอกจากปู แมลง และสัตว์หน้าดินแล้ว นกกระเรียนยังกินหญ้าด้วย! แต่เป็น “หญ้าแห้ว” เพราะมีหัวใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งสะสมอาหารคล้ายแห้ว ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นยอดในช่วงหน้าแล้งที่ปราศจากสัตว์หน้าดิน วันนี้เหล่าอาสาเลยได้ลงมือปลูกฟื้นฟูแหล่งอาหารเสริมให้กับนกกระเรียน ต้นอ่อนหญ้าแห้วถูกส่งต่อๆ กันไปให้กับอาสาสมัครที่ก้มๆ เงยๆ ในนาข้าว บางคนเซเกือบขมำในโคลน แต่ผืนนาทั้งแปลงกับเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
ไม่ทันแล้วเสร็จ นกกระเรียนสองตัวก็บินมากินหญ้าแห้วในแปลงข้างๆ ที่ถูกปลูกไว้ในฤดูกาลก่อน ราวกับจะส่งสัญญานบอกพวกเราว่ารีบปลูกนะ พร้อมที่จะรอมากินแล้ว
วิชาที่ 3 วิชา เกษตรอินทรีย์ วิถีวงกลม
ลมเย็นพัดผ่านปลายยอดข้าวนาอินทรีย์ พร้อมแสงทองแดดอ่อนๆ ของเช้าวันใหม่ ณ เถียงนาเชฟเทเบิ้ล ของพ่อทองพูน และแม่ปรารถนา อุ่นจิตต์ หรือแม่ปุ๋ง ผู้บุกเบิกการทำนาอินทรีย์ในยุคแรกคนใครๆ ก็หาว่าเป็นคนบ้า
“เราเริ่มต้นจากสุขภาพในครอบครัวก่อน ตอนนั้นคุณยายเขาป่วยเป็นเบาหวาน เราเลยปรึกษากันว่าจะช่วยได้ยังไงดี ไหนๆ เราก็ปลูกข้าวอยู่แล้วเลยหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อต่ออายุของยายให้นานขึ้น อีกอย่างการทำนาแบบสารเคมีการลงทุนจะสูงขึ้นเรื่อย ใส่ปุ๋ยเป็นสิบกระสอบ แต่ผลผลิตมันไม่ได้สูงตาม” พ่อทองพูนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่จะเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
พ่อทองพูนเล่าต่อถึงความท้าทายของการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ “ช่วงห้าปีแรก เราได้ผลผลิตต่ำมาก จากเดิมนาเคมีจะได้ 400-450 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อไร่ แต่เกษตรอินทรีย์ได้แค่ 50 กิโลกรัมต่อไร่ เพราะดินมันเสื่อมไปมากแล้ว ตอนนั้นผลผลิตต่ำมากจนเราต้องคุยกันต่อว่าเราจะสู้ต่อหรือพอแค่นี้ เราเลือกจะสู้ แต่สู้แล้วก็ต้องถามตัวเองกันว่าแล้วจะทำอย่างไร แล้วเราก็เจอว่าเราต้องเพิ่มอาหารธาตุอาหารกลับเข้าไปในดิน”
พ่อทองพูนใช้การฝังกลบแทนการเผาฟาง ทำให้มีอินทรียวัตถุในดินเพิ่มมากขึ้น และจากการไม่ใช้สารเคมีทำให้มีสัตว์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในแปลงนามากขึ้น ช่วยทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นด้วย จากผลผลิต 50 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อไปก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้มากถึง 300 กิโลกรัมต่อไร่ แม้จะยังไม่มากเท่าเกษตรเคมี แต่พ่อทองพูนย้ำว่าเรื่องคุณภาพของข้าวและสิ่งแวดล้อมดีกว่าแน่นอน
“แรกๆ เราชวนคนมาทำอินทรีย์ เราคิดแค่ว่าอย่างน้อยเราก็ไม่เอาเคมีไปใส่ในแหล่งน้ำของเรา คนของเราจะได้มีน้ำสะอาด” แม่ปุ๋งเสริม
ปัจจุบัน พ่อทองพูนและแม่ปุ๋งเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันอีกมากมาย จนรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์และร่วมกันขายข้าวในแบรนด์ของข้าวสารัช ซึ่งมาจากชื่อของนกกระเรียนหรือ Sarus Crane ด้วย นอกจากผู้คนจะได้กินข้าวแสนอร่อย ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องบ้านของนก
แม้ว่าพวกเราจะกินข้าวกันเป็นอาหารหลัก แต่ไม่ใช่อาสาสมัครทุกคนที่เคยลงมือแปรรูปข้าวด้วยตัวเองและพวกเราก็พบว่ามันไม่ง่ายเลย
“สังเกตไหมครับ ว่าข้าวทุกวันนี้ในท้องตลาดจะไม่ค่อยหอม เพราะเขาใช้ผิดวิธี” พ่อทองพูนเกริ่นก็ที่จะชวนเราไปไขความลับ “ข้าวเวลาเก็บเกี่ยวมาแล้วต้องตากให้แห้ง 2-3 วันก่อน ตากช่วยหัวค่ำแหละเช้าตรู่ตอนที่ไม่ร้อนมากจะทำให้ข้าวหอม และเราก็ตีข้าวด้วยวิธีแบบดั่งเดิมไม่ใช้เครื่องจักร”
และก็ถึงเวลาที่อาสาสมัครต้องออกแรง อุปกรณ์ในการตีข้าวเป็นเพียงไม้ขนาดพอดีมือสองท่อนสั้นๆ พันกันด้วยเชือกเพื่อรัดกำข้าวและตีลงไปกับไม้แผ่นที่เป็นเหมือนแท่นตีข้าวเท่านั้น “แรงแรงเลย แรงอีก เพิ่มพลังอีก” เสียงแม่ปุ๋งให้กำลังใจอาสา ขณะเดียวกันกลิ่นข้าวหอมฟุ้งก็กระจายออกมาทั่วพื้นที่ เชื่อแล้วว่ากลิ่นหอมข้าวนั้น หอมจริงๆ
“ฟางที่เราโยนทิ้ง เราเอาไปทำหุ่นฟางนกกระเรียนต่อ ถ้าไม่ได้เอาฟางไปทำหุ่นนกกระเรียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ชาวบ้านกลุ่มที่ทำหุ่นฟางนกกระเรียนจะรับซื้อฟางข้าวไปจากชาวบ้านในราคากิโลละ 100 บาทแพงกว่าข้าวอีกครับ” พ่อทองพูนพูดพร้อมเสียงหัวเราะ
เมล็ดข้าวที่ตีหลุดออกจากรวงแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการถัดไปคือ การฝัดข้าว เม็ดข้าวค่อยๆ ถูกใส่ลงในกระด้งอันใหญ่อย่างพอดี เราค่อยๆ ตวัดข้อมือให้พอดีกับจังหวะเพื่อให้แรงลมช่วยพัดฝุ่นละออง เมล็ดลีบ ออกจากข้าวดี สิ่งสำคัญคือการดูทิศทางลม ถ้าเราหันไปถูกทิศเศษข้าวจะปลิวออกจากตัวอย่างง่ายดาย แต่พออาสาได้ลงมือทำแล้วถึงกลับบอกว่า“ไม่กล้าหายใจเลยครับ ฝุ่นเยอะมาก”
เศษข้าวๆ และฝุ่นผงต่างๆ จากกระบวนการนี้ก็ถูกกองรวมกันเพื่อนำไปทำปุ๋ยต่อไป ส่วนข้าวดีที่ได้ก็พร้อมที่จะไปจำหน่ายเป็นข้าวเปลือก แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะเก็บเมล็ดส่วนหนึ่งไว้เพาะพันธุ์เพื่อที่จะนำกลับมาปลูกอีกครั้ง จะได้ไม่ต้องหาซื้อเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลถัดไป
“ความห่างเหินจากธรรมชาติอาจทำให้ไม่เห็นความเชื่อมโยง และมองว่า Regenerative farming เป็นเรื่องใหม่ แต่แท้จริงแล้วธรรมชาติหมุนเวียนและมีวัฏจักรที่เกื้อกูลพึ่งพิงกันมาเสมอ และเราก็ทำกันมาตั้งนานแล้วด้วยก่อนที่เกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรเคมีจะเข้ามา เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติ มองเห็นกระบวนการทุกอย่างหมุนวนเป็นวงกลมอยู่แล้วด้วยตัวเอง เราก็จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูลกัน ลดต้นทุกจากสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามาอย่างเกินจำเป็น เมื่อเราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะดูแลเรา ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอาหารการกิน การอุปโภคบริโภคของเรา กับธรรมชาติ การเกื้อกูลกันในวัฏจักรชีวภาพ (Biological Cycle) ช่วยให้เราเห็นแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล อย่างเช่นวิถีในผืนนาอินทรีย์แห่งนี้” ดร.เพชร ครูใหญ่ช่วยสรุปให้เราเห็นภาพของเกษรอินทรีย์และวิถีวงกลม
วิชาที่ 4 เส้นทางไหม สู่ใยเศรษฐกิจหมุนเวียน
จากอาหารการกิน เราเดินทางมาเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกันต่อผ่านเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ณ ศูนย์ทอผ้าชุมชนหัวสะพาน ที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน เรียกว่าส่งต่อภูมิปัญญากันมากกว่า 150 ปี
“ต้นพันธุ์หม่อนบุรีรัมย์ 60 ปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2535 และงอกงามกลายเป็นสินทรัพย์ ที่กลับมาดูแลคนในชุมชน จากการที่คนดูแลธรรมชาติ ที่นี่ไม่มีการนำเข้าทั้งแรงงานและวัสดุอุปกรณ์เลย นำเข้าอยู่อย่างเดียวคือรายได้” พี่ไก่ ศุภวิชญ์ สนไธสง พูดด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนที่จะแนะนำอาสาให้เรียนรู้พร้อมกับการลงมือทำในแต่ละขั้นตอน
ปลูกหม่อน: ใบของหม่อนถูกใช้เป็นอาหารเลี้ยงตัวไหมที่จำเป็นต้องหมุนเวียนปลูกให้เพียงพอกับการบริโภคของหนอนไหม อาสาได้ร่วมกันส่งต่อกล้าหม่อนที่ได้จากการปักชำกิ่งเก่า และลงมือขุดดิน ใส่ปุ๋ยคอก กลบฟาง และรดน้ำรอให้หม่อนเติบโตต่อไป แม้จะเป็นขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก แต่ระยะทางไกลของไร่หม่อนก็ดูเหมือนจะใกล้ขึ้น เมื่ออาสาต่อแถวเรียงหนึ่ง ช่วยกันส่งต่อกล้า ฟาง และอุปกรณ์ต่างๆจากมือสู่มือ
คัดรังไหม: เมื่อหนอนไหมเริ่มเข้าระยะดักแด้อย่างสมบูรณ์ เราก็จะมาคัดแยกคุณภาพของรังไหมเพื่อที่จะนำไปสาวเป็นเส้นใยต่อไป อาสาทำหน้าที่เป็นคนตรวจเช็คคุณภาพ ตั้งแต่รังไหมเกรดประกวด รังไหมที่ไม่สมบูรณ์หรือรังแฝดจะทำเป็นเส้นไหมเกรดรองลงมา จนไปถึงรังที่ไม่สามารถนำไปทำเส้นใยได้จะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบของการประดิษฐ์ต่างๆ
หลังจากนั้นรังไหมจะถูกนำไปต้มเพื่อละลายกาวที่เป็นโครงสร้างก่อนดึงออกมาเป็นเส้นใย เมื่อดึงเส้นใยออกจนหมดจะเหลือโครงสร้างรังใสๆ ที่จะถูกนำไปตีให้ฟูเพื่อใช้เป็นวัสดุในผ้านวมหนานุ่ม ส่วนดักแก้ที่เหลืออยู่ข้างในก็จะเป็น ‘รถด่วน’ ที่ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท แม่ๆ ถึงกับกระซิบบอกว่าถ้าอยากได้ต้องจองล่วงหน้า 1-2 เดือนเลยทีเดียว เรียกได้ว่าไม่มีส่วนไหนที่ถูกทิ้งไปโดยไม่ใช่ประโยชน์จริงๆ
ย้อมสีไหม: ก่อนจะนำมาย้อม เส้นไหมต้องถูกนำไปฟอกให้โครงสร้างโปรตีนที่เคลือบอยู่หลุดออกก่อน ซึ่งน้ำยาฟอกนั้นก็ไม่ใช่เคมีที่ไหน แต่คือน้ำละลายของขี้เถ้ากับต้นกล้วยที่เผาไฟ และนำมาย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบประดู่ที่ให้สีแดงก่ำ ใบสมอให้สีเหลืองแก่ เปลือกสบู่เลือดให้สีน้ำตาลนุ่มละมุนตา เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาจากการสังเกต ทดลอง และใช้งานจากธรรมชาติรอบตัว
“เราใช้ แต่เราไม่ตัดมาทั้งต้น เราแบ่งเขามานิดหน่อย” แม่ๆ เล่าให้ฟังถึงการพึ่งพากันของต้นไม้และคนดูแล “พอเห็นสีผ้าแล้ว คนย้อมก็อยากได้สีที่หลากหลายขึ้น ก็อยากจะปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเราดูแลต้นไม้ต้นไม้ก็ดูแลเรา”
วิชาที่ 5 วัฏจักรน้ำ วัฏจักรชีวิต
ท่ามกลางธรรมชาติของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน หลังจากที่พวกเรานั่งสองแภวลัดเลาะและส่องนกตัวเล็กในตอนเช้า ครูใหญ่ของเราก็พาเราไปเห็นภาพใหญ่ของโลก
“ตอนนี้เราอยู่ในยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 และ 5 ครั้งที่ผ่านล้วนแล้วแต่มาเกิดจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติการทั้งสิ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร อุกาบาตรชนโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อัตราการเร่งของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตพุ่งขึ้นสูงมากพอๆ กับ 5 ครั้งที่ผ่านมา แต่แตกต่างตรงที่ครั้งนี้ เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ จากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประโยชน์ที่ดิน”
แน่นอนว่าทุกวันนี้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติต่างๆ เกิดบ่อยขึ้น จนยากที่เราจะปฏิเสธได้ว่าเป็นผลกระทบจากการกินอยู่และบริโภคของเรา แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถเลือกที่จะดูแลโลกโดยการทำความเข้าใจและเปิดใจในการลงมือทำได้
ดร. เพชรสรุปกิจกรรมที่ผ่านมาว่า “เรามาที่นี่ เพื่อเรียนรู้ความสำเร็จ ความยั่งยืนของการใช้น้ำ ทั้งนกกระเรียน พื้นที่ชุ่มน้ำ เกษตรอินทรีย์ล้วนสัมพันธ์กัน ถ้าเราไม่มีน้ำก็จบทุกอย่าง ในเรื่องของการพัฒนาและดำรงอยู่ น้ำเป็นทั้งทรัพยากรและเป็นระบบนิเวศด้วย บุรีรัมย์มีทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนนกน้ำเองก็ช่วยในการรักษาสมดุลของพื้นที่ชุ่มน้ำ คนในเมืองก็อาศัยน้ำจากพื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้เป็นหลัก
“ถ้าถามว่าท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อม เรายังมีความหวังอยู่ไหม ผมว่าการเลือกที่จะหมดหวัง มันไม่ใช่ทางออก ถึงแม้โอกาสสำเร็จจะมีน้อย แต่มันคือทางเดียว มันไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด”
วิทยานิพนธ์
บทสรุปเป็นเหมือนคำถาทบมใหม่ว่าเราจะรอดได้อย่างไร โดยอาสาจะต้องร่วมระดมไอเดียการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนที่สร้างได้ด้วยตัวเราเอง ทั้งในฐานะของกลุ่มขับเคลื่อนชุมชน เจ้าของธุรกิจ หรือฐานะคนธรรมดาทั่วไป
บรรยากาศในห้องประชุมพรั่งพรูไปด้วยหลายแนวคิดจนนั่งกันไม่ติด ทั้งการนำ ‘เศษ’ ที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อย่างกระเป๋าถักจากฟางข้าว ของตกแต่งจากวัสดุการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ที่ระเบียงบ้าน จนถึงการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่หมุนเวียน อย่างการแยกขยะและใช้ทรัพยากรซ้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด
ไอเดียเหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และมันไม่ใช่หน้าที่ของบริษัท นักวิจัย หรืออาสาสมัครที่มาร่วมกิจกรรม หากแต่เป็นคำถามใหญ่ที่พวกเราทุกคนต้องทำความเข้าใจและช่วยกันคิดต่อว่า เราจะร่วมกันฟื้นฟูโลกให้ยังคงหมุนไปอย่างยั่งยืนได้อย่างไร