เพราะ ‘น้ำ’ คือหัวใจของชีวิต ความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจกับการบริหารน้ำในยุคโลกรวน

#การพัฒนาที่ยั่งยืน
news-image

‘น้ำ’ หนึ่งในทรัพยากรหลักของโลก กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่เราต้องเผชิญ เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป และ ‘ฝน’ ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นความผันผวนได้อย่างประจักษ์ชัดแจ้ง จากกรณีฝนตกหนัก เป็นระยะเวลานาน อยู่ แค่เพียงจุดใดจุดหนึ่งจนน้ำระบายไม่ทันและเข้าท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทั่วไทย การเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ความแปรปรวนที่คาดเดาได้ยากของโลกในตอนนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำในสภาวะ Climate Change

TCP Sustainability Forum ดำเนินมาสู่ปีที่ 3 จากความตั้งใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืน ภายในองค์กรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน และสำหรับปี 2024 นี้ กลุ่มธุรกิจ TCP จึงได้นำเรื่องของ ‘น้ำกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของภาคธุรกิจ’ มาเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในคอนเซ็ปว่าด้วยความยืดหนุ่นในการบริหารทรัพยากรน้ำ ‘Water Resilience in a changing Climate’

ในวันที่ปริมาณน้ำสะอาดมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้งานมากถึง 40% ภาคธุรกิจควรจะปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดและอยู่ร่วมกับภาคอื่นๆ ในสังคมอย่างไรให้ได้อย่างยั่งยืน

ก่อนจะพูดถึงเรื่องน้ำ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความเสี่ยงของทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเรื่องที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สุขภาพของคนไทย ไปจนถึงเรื่องหนี้สาธารณะของรัฐบาลทั่วโลก แต่เรื่องที่น่าจะ ‘ต้อง’ สนใจของนักธุรกิจก็คือ ‘เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง’

ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่แต่ละประเทศบนโลกแทบไม่มีกำแพงกั้นระหว่างกัน การค้าขายข้ามเขตแดนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย จนในช่วงหลังมานี้วงการเศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่ารับแรงกระแทกจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า ทางออกของปัญหานี้ที่นอกจากการให้รัฐบาลเข้ามาโอบอุ้มแล้ว ดร.ศุภวุฒิ ได้ชี้แนวทางการแก้เกมส์ประเทศจีนมาให้ด้วย

ถึงแม้ว่าแผ่นดินจีนจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและนวัตกรรมชั้นเลิศ แต่จุดอ่อนของภาคธุรกิจจีนคือสินค้า ‘เกษตรกรรม’ เพราะข้อจำกัดด้านแรงงานและพื้นที่เพาะปลูก โดยมีเพียง 9% แต่กลับมีสัดส่วนประชากรถึง 20% จากทั้งโลกด้วยพื้นที่อันไม่เพียงพอต่อการผลิตให้ได้เท่าที่คนต้องการ จีนจึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น และนี้ก็เป็นโพรงที่จะให้ไทยกลับคืนดุลการค้ากับจีนได้ และในส่วนของการทำการเกษตร ดร.ศุภวุฒิยังทิ้งท้ายไว้อีกว่า “หัวใจก็คือ น้ำ น้ำ น้ำ” ดูน้อยลงทุกวันนี้ไม่มีธุรกิจไหนจะสามารถดำเนินโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนได้

กลุ่มธุรกิจ TCP เองก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับเรื่องน้ำที่เป็นทรัพยากรหลักในการผลิตเครื่องดื่มต่างๆ โดยได้วางเป้าหมาย ‘Net Water Positive’ เป็นการคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชน ให้มากกว่าที่ใช้ในกระบวนการผลิต ภายในปี 2573 ซึ่งได้ตอนนี้สามารถคืนน้ำสู่ธรรมชาติมากกว่าน้ำที่ใช้ตลอดกระบวนการผลิตแล้ว แต่ถึงแม้ว่าจะบรรลุเป้าหมายแล้ว กลุ่มธุรกิจ TCP ยังคงผลักดันการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อ ตามเป้า Net Water Positive ด้วยการจัดการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำแบบฟื้นฟู การใช้น้ำหมุนเวียนแบบ100% และการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ

นอกเหนือจากแผนความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีเป้าหมายการจัดการในด้านอื่นๆ อีก อย่างการก้าวหน้าไปเป็น ‘Low Carbon Economy’ ที่ปักธงปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพของแพ็กเกจจิงให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% (Circular Economy) และในตอนนี้ก็สามารถทำได้มากถึง 93% แล้ว และคาดว่าจะทำได้ 100% ภายในปีนี้

การสร้างวงจรความยั่งยืนนี้ให้มั่นคง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนระยะสั้น คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปรียบการสร้างรากฐานความยั่งยืนเป็นการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่วิ่งไปได้เรื่อยๆ และนานที่สุด โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็น Long term game ที่ไม่ใช่แค่การทุ่มทุนลงแรงไป แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมาในระยะเวลาสั้นๆ ทว่าเกิดจากการวางแผนระยะยาว ทำด้วยความใจเย็น และเริ่มตั้งแต่ในระดับองค์กร ด้วยการปลูกฝังแนวคิดด้านนี้ให้กับคนภายใน เพื่อให้ทุกคนมองเป้าหมายเป็นภาพเดียวกัน และเต็มใจที่จะวางรากฐานความยั่งยืนนี้ไปด้วยกัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่า น้ำ เป็นทรัพยากรที่เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ แต่ปริมาณน้ำกลับมีไม่เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับคนทุกกลุ่ม คุณประสิทธ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ได้เล่าย้อนไปเมื่อสมัย 10 ปีก่อนว่า ด้วยความที่น้ำเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องใช้ร่วมกัน หากว่ามีอุตสาหกรรมใด ใช้น้ำโดยที่ไม่คำนึงถึงคนกลุ่มอื่น ไม่ทำการบริหารจัดการน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ก็จำต้องตกเป็นที่จับจ้องของสื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ในปัจจุบันนี้ เราสามารถตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มอุตสาหกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น จากมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งก็มีอยู่หลายองค์กรและมีรายละเอียดในการรับรองต่างกันไป เช่น AWS (Alliance for Water Stewardship ) องค์กรระดับสากลที่มีการแบ่งการรับรองเป็น 3 ระดับ ตามศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การจัดการภายในโรงงาน ไปจนถึงการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ

มาตรฐานการบริหารจัดการน้ำต่างๆ จะเป็นเครื่องการันตีให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่พวกเขาซื้อ รวมไปถึงองค์กรผู้ผลิต มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

*เกณฑ์การพิจารณาตามมาตรฐาน AWS

  1. การรักษาสมดุลของทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
  2. การดำรงรักษาสภาพที่ดีของทรัพยากรน้ำ
  3. การจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี
  4. การอนุรักษ์ไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของพื้นที่แหล่งน้ำ 

“น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ”

เมื่อกล่าวถึงสภาวะโลกรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว “น้ำ” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญของสถานการณ์นี้ เพราะความแปรปรวนของอากาศทำให้สภาวะของน้ำผันผวน และส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วม-แล้งตามมา

แต่สำหรับน้ำท่วม ดร.เพชร มโนประวิตร ที่ปรึกษาองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ ที่เราสามารถวางแผนการควบคุมได้ และหนึ่งแนวทางการแก้ปัญหาที่ ดร.เพชรนำมาส่งต่อในวันนี้ก็คือ การใช้ธรรมชาติแก้ไขธรรมชาติ หรือ Nature-Based Solutions

การทำความเข้าใจถึง ‘ระบบ’ ของ ‘นิเวศ’ เพื่อใช้ความเป็นไปของธรรมชาติในการแก้ปัญหา โดยมีมนุษย์ช่วยออกแบบเส้นทางนั้น ตัวอย่างเช่น การทำความเข้าใจความเชื่อมต่อกันของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและชั้นหินอุ้มน้ำ ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและลดผลกระทบที่จะเกิดจากน้ำท่วมหรือน้ำแล้งได้ ด้วยการบำรุงฟื้นฟูพื้นที่ในส่วนนั้นๆ

เมื่อเราเข้าใจระบบนิเวศอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่าเรื่องของน้ำท่วม แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างจะถูกแก้ไปในเวลาเดียวกันอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ด้วยเครือข่ายของธรรมชาติที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างตัดไม่ขาด แม้ว่าเราเลือกที่จะพัฒนาแหล่งน้ำแค่เพียงส่วนเดียว แต่ด้วยกระบวนการต่างๆ อย่างการปลูกพืชที่สามารถปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ ก็จะช่วยสร้างเสริมให้ระบบนิเวศน์ในบริเวรนั้น ดีขึ้นตามไปด้วย

ทางออกการแก้ปัญหาธรรมชาติด้วยธรรมชาตินี้ จะสามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วยตัวของมันเอง 

เราได้ฟังถึงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีต่างๆ มาแล้ว ในช่วงสุดท้ายของ TCP Sustainability Forum 2024 ซึ่งเป็นเวทีเสวนาจากนักวิชาการหลายฝ่าย อีกช่วงที่ทำให้เราได้รับข้อมูล ที่จะนำไปเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

สภาวะโลกรวนที่ทำให้อากาศแปรปรวน ส่งผลให้รูปแบบของฝนต่างไปจากแต่ก่อน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้มากขึ้นจากการที่น้ำระบายไม่ทัน เพราะพายุพัดตัวเข้าสู่ประเทศไทยน้อยลง แต่กลับเพิ่มระดับความรุนแรง และตกแบบกระจุกตัว อยู่ในจุดเดิมเป็นระยะเวลานาน และมีแนวโน้มจะแปรปรวนมากขึ้นไปอีกในอนาคต

ในส่วนของสภาวะภูมิอากาศ ช่วงหน้าร้อนจะยืดระยะยาวนานขึ้น บวกกับความร้อนที่จะมีมากขึ้น ทิ้งช่วงห่างจากหน้าฝน และหน้าหนาวจะยิ่งสั้นลงกว่าเดิม

ท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถทำให้สภาพอากาศที่แปรปรวนเปลี่ยนไปหวนกลับเป็นปกติเหมือนแต่ก่อนได้อีกต่อไป และเราไม่สามรถหยุดยั้งปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ควรเร่งมือทำมากที่สุด คือ การร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายหลากองค์กร เพื่อวางแผนและลงมือแก้ไขวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด รวมไปถึงการสร้างแผนรับมือ เพื่อป้องกันความเสียหายจากมหันตภัยที่กำลังวิ่งเข้ามาหาเราในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย 

บทความโดย Environman